Sunday, October 12, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (4)

อยู่แนวหน้าตาสว่างโพลง

 ฉันได้รับการฝึกเช่นเดียวกับนักศึกษาปัญญาชนคนอื่นๆ คือฝึกท่าบังคับพื้นฐานแบบทหารคืบคลานกลิ้งตัวไปมา และสุดท้ายได้ฝึกยิงปืนถ้าจำไม่ผิดใช้ปืนอาก้า ซึ่งทั้งหมดฉันว่าฉันสอบตกหมดทุกกระบวน กลิ้งตัวเสร็จนอนมึนงง... ยิงปืนก็หลุดเป้าหายไปหมด... เพราะมือสั่นใจเต้นอย่างแรง แต่สหายก็ดีใจหาย หลังจากนั้นก็ให้ฉันคาดปืนพกไว้ที่เอว ซึ่งฉันไม่เคยแตะมันเลยยกเว้นตอนที่เค้าสอนให้ถอดมาเช็ดล้าง และสมองไม่จำไว้เลยว่าปืนพกนี้อยู่กับฉันนานเท่าไหร่
ฉันเดินรอนแรมอยู่บนเทือกเขาบรรทัดที่สามารถเดินต่อเนื่องถึงนครศรีธรรมราชได้ โดยเฉพาะช่วงที่โดนล้อมปราบ ต้องอพยพโยกย้ายรอนแรมพักค้างตามป่าแถบเทือกเขาที่มีอากาศเย็นแบบชุ่มชื้น และมักมีฝนตกเสมอๆ เวลากางเต้นต้องไม่ลืมขุดคูน้ำไหลไว้รอบๆ เต้นนอน และคืนที่อากาศสบายก็นอนชมยอดไม้เลย บางครั้งเวลานอนเรียงๆ กันเป็นตับ ใครได้นอนริมก็หวาดหวั่นกลัวเสือมาจู่โจม เวลาลุกเดินไปทำธุระก็ต้องจดจำทิศทางดีๆ อาจหลงกลับมาที่เดิมไม่ได้ เพราะมันมืดมากเหมือนหลับตาเดิน... ฉันเคยหลงกลับมานอนที่เดิมไม่ถูกงงสะเปะสะปะอยู่เป็นนานเลย
(เกี่ยวกับสถานที่ที่เรารอนแรมอยู่ในป่าที่ภาคใต้นานเกือบปีนั้น สามารถหาอ่านจากข้อเขียนที่เต็มไปด้วยอรรถรสได้จากหนังสือ “รอยเท้าบนปุยเมฆ” ของเสถียร จันทิมาธร รวมทั้งหนังสือที่ชื่อ “ลมพัดชายเขา” เขียนโดย “นิมิต ศัลยา” หรือพี่จิ๋มภรรยาของคุณเสถียรนั่นเอง นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายเล่มที่เพื่อนๆ หลายคนที่เข้าไปได้เขียนไว้นานแล้วค่ะ)
สหายเก่าที่อยู่มาก่อนมักมีเรื่องเล่ามากมายมาเล่าให้เราฟังอย่างมีชีวิตชีวา... ทำให้เราได้รับรู้ความเป็นมาเป็นไปของชีวิตทหารป่าของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ฉันเริ่มเข้าใจคำว่า “ช่องว่าง” ความห่างไกลกันทางความนึกคิด ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึก การศึกษาวัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต หรือชีวิตทางวัตถุของคนในเมืองกับในชนบท และเริ่มรู้สึกว่า การหลั่งไหลอย่างไม่ขาดสายของนักศึกษาปัญญาชนคนหนุ่มสาวเข้าสู่ป่าเขาแบบนี้ เป็นการสร้างความเครียดให้กับ “ป่า” อย่างเลี่ยงไม่ได้ และในไม่ช้านานนักช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ก็จะต้องหมดไปเป็นธรรมดา...
นักศึกษาปัญญาชนเกือบทั้งหมด รวมทั้งฉันด้วย คือผลพวงของการเร่งรัดพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ พ.ศ. 2500 นับแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา การพัฒนาที่ต่อเนื่องมาประมาณ 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจได้ขยายตัวก้าวหน้ามีการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในวงกว้างขึ้น คนจากชนบทจำนวนมากได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในเมือง มีชีวิตฐานะดีขึ้น สามารถส่งเสียคนรุ่นลูกหลานให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น ดังนั้น การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยมีนักศึกษาปัญญาชนซึ่งเป็นคนรุ่นลูกหลานของประชาชนเหล่านี้เป็นหัวหอกแบบ “กรณี 14 ตุลา 2516” จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ...
ไม่ช้านานนักความขัดแย้งในป่าก็ปะทุขึ้นในทุกปริมณฑล ตอนนั้นอยากบอกว่า... ไม่ต้องมาล้อมปราบยิงปืนครกใส่ หรือเอาเครื่องบินอะไรไม่รู้ลำเบ้อเริ่มมาทิ้งระเบิดใส่ก็ได้... แค่เงื่อนไขความไม่ลงตัวภายในขบวนเองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ก็สามารถทำให้ “ป่าแตก” ได้แล้ว (ความจริงแล้วฉันไม่รู้อะไรเลยมองและคิดไปตามประสา “คนนอกจัดตั้ง” เท่านั้น)
พร้อมๆ กับที่ฉันเริ่มตาสว่าง และเริ่มมองเห็นว่าที่นี่ไม่น่าจะใช่สิ่งและสภาพที่อยู่ในความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวจากในเมือง ที่ต่อสู้กับเผด็จการเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญกันอย่างเอาเป็นเอาตาย... ฉันเริ่มบอกตัวเองว่า ที่นี่ยังไม่ใช่สังคมใหม่ที่ก้าวหน้าแต่เป็นในทางตรงกันข้าม กลับถอยหลังไปหลายยุค สังคมใหม่ ประเทศไทยใหม่ยังไม่เกิดและจะยังไม่มีขึ้นมาได้อย่างง่ายๆ เหมือนที่เพ้อฝันเอาเอง...
ในเดือนที่ 4-5-6 และเดือนที่ 7 ที่ฉันใช้ชีวิตเดินแบกสัมภาระขึ้นเขา แล้วลงห้วยแล้วปีนขึ้นเขาอีก... พลัน...เราก็ได้รับคำสั่งจาก “จัดตั้ง” (ไหนก็ไม่รู้) ให้สหายวิทยา สหายศัลยา (ภรรยาคุณเสถียร) และฉัน... เดินทางขึ้นเหนือ....

ฉันได้เดินทางออกจากเขตเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขึ้นเหนือ โดยผ่านกรุงเทพฯ เมื่อราวกลางปี พ.ศ. 2520 ...พร้อมๆ กับตาที่เริ่มสว่างโพลงขึ้นอย่างเงียบเชียบ///

No comments:

Post a Comment