Tuesday, October 14, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (6)

ภาพพื้นหลังของสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร

การเดินทางขึ้นเหนือเป็นไรที่รอนแรมและยืดเยื้อแต่ตื่นเต้นราวกับหนังอมตะเรื่อง War and Peace ...เลยต้องมี  intermission ค่ะ
ภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ในตอนนี้ ฉันอยากจะพาทุกท่านถอนตัวชั่วคราว ออกมายืนในมุมห่างๆ หรือมุมสูงๆกันสักนิด เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพกว้างของสถานการณ์รอบๆ ตัวของเราในขณะนั้นได้ชัดขึ้นนะคะ
น่าสนใจค่ะ ถ้าหากใครติดตามรับฟังข่าวความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเหมือนๆ กัน คงจำเรื่องราวที่ฉันจะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้ดีนะคะ ช่วงที่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนของไทยถูกปราบปรามอย่างรุนแรงคือกรณี 6 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1976  หรือ พ.ศ. 2519 นะคะ เรามาดูสถานการณ์ก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันนี้ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในการเมืองระดับโลกและระดับภูมิภาค...
มาดูในปีสำคัญคือ 1975 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ปีเดียว มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
(1) ในปีนี้ สหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม กรุงไซ่ง่อนแตก ต้องถอนทหารนับแสนออกจากแผ่นดินเวียดนาม นำไปสู่การรวมสองเวียดนามเข้าเป็นหนึ่งเดียวคือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปีต่อมา
(2) ในปีนี้ เดือนเมษายน กองกำลังเขมรแดงที่จีนหนุนหลังสามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญและประเทศกัมพูชาได้สำเร็จ มีการกวาดล้างผู้คนออกไปจากเมืองหลวงอย่างขนานใหญ่ ทำให้ในเวลาต่อมาผู้นำเขมรแดงในเวลานั้นต้องถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกจำคุกที่ศาลนานาชาติกรุงพนมเปญด้วยความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ขอบคุณภาพเหตุการณ์จากอินเทอร์เน็ตค่ะ
(3) ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง รัฐบาลไทยนำโดยนายกรัฐมนตรีพลเรือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เดินทางไปจับมือกับประธานเหมา เจ๋อ ตง ที่กรุงปักกิ่งและลงนามเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ
(4) ในปีนี้ ในประเทศลาว กองกำลังประเทศลาวฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะรัฐบาล และในปลายปี กษัตริย์ลาวได้ทรงสละราชสมบัติ และให้การนำของประเทศตกอยู่ในอำนาจของคอมมิวนิสต์โดยสิ้นเชิง
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ก่อนหน้านี้ ในปี 1971 เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ นักยุทธศาสตร์และ รมต.ต่างประเทศสหรัฐในขณะนั้น ได้เดินทางไปนครปักกิ่งเพื่อพบปะกับผู้นำจีน และนำไปสู่การพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐกับประธานเหมาเจ๋อตงของจีนในปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1972 ก่อนที่จะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา
 ในปี 1976 หรือ พ.ศ. 2519 ล่ะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
(1) ในประเทศจีนซึ่งในช่วงนั้นอยู่ในระหว่างการรณรงค์ “4 ทันสมัย” นำโดยกลุ่ม 4 คน (Gang of Four) ที่มีสหายเจียง ชิง (ภริยาของประธานเหมา) เป็นหัวหอก มีการโจมตีแนวทางของ เติ้ง เสี่ยว ผิง อย่างขนานใหญ่ แต่ก็ได้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้น นั่นคือการถึงแก่อสัญกรรมของนายกโจว เอิน ไหล และตามด้วยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของประธานเหมา เจ๋อ ตง ในปีเดียวกัน โดยได้ทิ้งถ้อยคำอมตะของการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ฮว่า กั๋วเฟิง ประธานคนใหม่ที่ว่า “คุณทำงานฉันไว้ใจ” แต่สถานการณ์ในจีนอึมครึม มีการต่อสู้ยื้ออำนาจกันภายในกลุ่มนำที่มีความคิดแตกต่างกัน
(2) เวียดนามประกาศรวมประเทศก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเดือนกรกฎาคม และในเดือนสิงหาคม ประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมีรัฐบาลพลเรือนนำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามทันที แต่สถานการณ์ 3 ประเทศอินโดจีนก็เกิดการไม่ลงรอยกัน อันเนื่องจากความแตกแยกทางแนวทางระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อเวียดนามซึ่งได้การหนุนหลังจากสหภาพโซเวียตได้รับชัยชนะ รวมทั้งลาวในขณะนั้น ก็ขัดแย้งกับเขมรแดงที่หนุนหลังโดยจีน เริ่มมีการกระทบกันประปรายที่บริเวณพรมแดนที่ต่อเนื่องระหว่างจีน-เวียดนาม-ลาว-ไทย บริเวณนั้น
ภาพสถานการณ์ในช่วงนั้นมันเป็นแบบนี้ค่ะพี่น้อง และก็ยังมีสถานการณ์ที่พัฒนาต่อเนื่องไป ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อขบวนการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

ดีไหมคะ ยังอยากอ่านไหมคะ หรือว่าเบื่อกันแล้ววว >>>>><<<<<<

No comments:

Post a Comment