Tuesday, October 28, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (อวสาน)

การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง...สู่การจากลาอย่างอารยะ

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ก่อนอื่นฉันอยากพูดถึงคำว่า “จัดตั้ง” ในความเข้าใจของฉันสักเล็กน้อย ในครั้งนั้นคำๆ นี้เป็นคำที่ค่อนข้างนามธรรมสำหรับฉัน เริ่มแรกเข้าใจว่ามันเป็นคำกลางๆ สำหรับเรียก “ผู้ใหญ่” ในพรรคฯ ที่อยู่ในสถานภาพที่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ได้  ต่อมาก็เห็นว่ามันก็เป็นระบบการจัดการบริหารองค์กรอย่างหนึ่งที่มีลักษณะสั่งการเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) และใครก็ตามที่มาอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ในที่สุดแล้วก็จะต้องถูก “จัดตั้ง” ซึ่งลักษณะเช่นนี้ จัดตั้งก็ดูเหมือนจะเป็น “ผู้นำทางความคิด หรือ mentor” แต่ก็มีอะไรที่มากกว่านั้น เพราะขณะเดียวกันคนๆ นั้นก็จะต้องไปจัดตั้งคนอื่นๆ ต่อๆ ไป จัดตั้งอาจเป็นผู้สั่งการให้ผู้ที่อยู่ในลำดับชั้นล่างลงไปปฏิบัตินั่นนี่ มีภารกิจที่ต้องไปบรรลุเพื่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของส่วนรวม โดยมี “กฎเหล็ก” ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน เสียงข้างน้อยขึ้นต่อเสียงข้างมาก ส่วนทั้งหมดขึ้นต่อศูนย์กลาง เป็นต้น ซึ่งมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกสไตล์การบริหารจัดการหรือการปกครองแบบนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์”
ที่น่าสังเกตคือมีสหายบางคนรู้สึกว่า พรรคและจัดตั้งเป็นเหมือน “พ่อแม่” ที่คอยอบรมชี้นำสั่งสอนเอาเรื่องสำคัญๆ มาบอก มาคอยดูแลทุกข์สุขคอยช่วยเหลือเมื่อพบเจอปัญหา ฯลฯ
ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะหากใครอ่านข้อความข้างต้นแล้วไม่เข้าใจ หรือคลุมเครือ... !
........
ที่พยายามพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจาก ในช่วงเวลาค่อนไปทางปลายปี 1978 หรือ พ.ศ. 2521 เห็นจะได้นะคะ สหายอาวุโสในสำนักที่ฉันล้วนเคารพนับถือ ได้เมตตาให้ฉันเข้าโครงการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพรรค จัดตั้ง และลัทธิมาร์กซ์-เลนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งฉันเข้าใจว่า เพื่อให้ฉันได้ผ่านกระบวนการตามขั้นตอนของผู้ที่จะเข้าสู่การจัดตั้งของพรรค อะไรทำนองนี้นะคะ โปรแกรมและกระบวนการดังกล่าวดูเหมือนจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง ศึกษาเสร็จแล้วก็เขียนรายงานความเข้าใจ และdefend ความเข้าใจของตนเองกับ “จัดตั้ง” คล้ายๆ แบบนี้นะคะ /
ด้วยความเคารพ... เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ฉันจะขอเขียนในเชิงการรำลึกถึงเหตุการณ์จากมุมมองของตนเองเป็นหลักนะคะ เพราะในระหว่างนั้นหากได้มีการพิจารณาเอกสารรายงานผลการศึกษาของฉันในหมู่สหายในกลุ่มจัดตั้งชั้นบนกันอย่างไรนั้น ฉันก็ไม่ได้มีโอกาสรับรู้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องปิดลับ...
 แต่... แต่สิ่งที่ฉันอยากจะบอกก็คือ... กระบวนการที่ฉันต้องศึกษาทบทวนเรื่องต่างๆ นี้เอง กลับทำให้ตัวฉันเองได้ค้นพบและได้มีโอกาสทำความกระจ่างในหลายๆ เรื่องที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดมาก่อนค่ะ... บอกได้เลยว่าจนถึงวันนี้ ยังรู้สึกขอบคุณสหายอาวุโสที่ได้เปิดโอกาสให้ฉันได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวในครั้งนั้นเป็นอย่างสูงค่ะ
ครั้งนั้น ฉันทำงานไปด้วยและก็ศึกษาค้นคว้าทบทวนประเด็นเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอดช่วงเวลาหลายเดือน คิดว่าถึงราวๆ ปลายปี 1978 หากจำไม่ผิด ฉันก็ได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้วค่ะ (บางคนได้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรกค่ะ) ฉันก็ได้ตัดสินใจเขียน “พิจารณาตัวเอง” ลงไปในรายงานที่จะเสนอต่อจัดตั้งด้วยความเคารพและจริงใจอย่างถึงที่สุดว่า ...ฉันคงไม่สามารถเข้าสู่การจัดตั้งของพรรคได้ เพราะฉันไม่เห็นด้วยกับแนวทางสำคัญๆ ของพรรคหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับจุดยืนท่าทีของพรรคในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต แต่ฉันก็เข้าใจถึงความจำเป็นของพรรคและเคารพต่อการตัดสินใจเลือกของพรรค...
ขอบคุณภาพจากเน็ตค่ะ
จนถึงทุกวันนี้ ฉันยังรู้สึกซาบซึ้งถึงความกระตือรือร้นและความเอาใจใส่ของบรรดาสหายอาวุโสหลายคน ที่ต่างก็สละเวลามาเดินคุยเพื่อทำความกระจ่างในปัญหาของฉันคนละหลายครั้งรวมระยะทางหลายสิบกิโลเป็นเวลาหลายวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฉันก็หวังว่าฉันได้ทำให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจในความคิดเห็นของฉัน ซึ่งไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวแต่อย่างใดเลย
และก็เป็นความบังเอิญที่เรื่องของฉันมาประจวบกับช่วงเกิดปัญหาใหญ่ ที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ดำเนินไปถึงจุดระเบิดเกิดการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันอย่างละเลงเลือดในช่วงต้นปี 1979 และหลังจากการประกาศปิดสถานีวิทยุ สปท. ไม่นาน สหายพจน์ก็ได้ตัดสินใจขอเดินทางออกจากประเทศจีน ซึ่งมีกระบวนการยาวนานประมาณ 2 ปี กว่าจะได้เดินทางออกจากสำนักจริงๆ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีเพื่อนและน้องๆ เข้ามาร่วมเป็นกลุ่มทั้งหมด  6 คน
ในช่วง 2 ปี ระหว่างการรอเดินทางออกนั้น ทางสำนักก็ได้จัดให้เรามีพื้นที่ของตนเองเฉพาะกลุ่ม และไม่มีกิจกรรมร่วมกับสหายอื่นๆ ดังที่เคยปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดประชุมพิเศษระหว่างกลุ่มเรากับสหายนำระดับสูงๆ ที่อยู่ในประเทศจีนช่วงนั้นหลายคน และหลายครั้ง เพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นภาพประทับใจที่ฉันยังจำติดตาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
เพราะนั่นมันคือการจากลากันอย่างอารยะ... เป็นการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างอารยชนพึงกระทำค่ะ/
นั่นคือท่าทีและการปฏิบัติที่มีอานุภาพ หนุนนำให้เราเหลือพื้นที่ในใจที่จะจดจำสิ่งดีๆ ไว้ได้อย่างแม่นยำ...แม้เวลาล่วงเลยตราบนานเท่านาน...และด้วยจิตคารวะอย่างจริงใจค่ะ///

ข้อเขียน ...อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา” ...รำลึกชีวิตที่รอนแรมในกระบวนการต่อสู้... ก็จบบริบูรณ์เพียงเท่านี้

Monday, October 27, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (14)

สถานการณ์น่าตกใจฝันสลายในชั่วข้ามคืน

ขอบคุณภาพจากเน็ต
ตอนนี้จะขอพาทุกท่านมาดูว่าในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2522 (ค.ศ. 1977-1979) มีสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอะไรบ้างทั้งภายในและภายนอกประเทศของเราค่ะ
(1) ในประเทศจีนหลังการมรณกรรมของประธานเหมา มีการริเริ่มกระบวนการขจัดอิทธิพลด้านลบของการปฏิวัติวัฒนธรรม และกลุ่มสี่คน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยบนกำแพง เรียกว่า Beijing Spring (เอามาจาก Praque Spring ที่เชโกสโลวะเกียในปี 1968) ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับกลุ่มสี่คน และการขึ้นสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิง พร้อมคำขวัญโด่งดังที่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้” นั่นเอง
(2) สถานการณ์เพื่อนบ้านของเรา พบว่าช่วงปลายปี 1977 เวียดนามที่เพิ่งปลดปล่อยใหม่เกิดกระทบกระทั่งกับอำนาจรัฐเขมรแดงในกัมพูชาซึ่งได้รับชัยชนะก่อนเมื่อปี 1975  และเดินนโยบายซ้ายจัดอพยพคนออกจากเมืองขนานใหญ่ (น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่ดำเนินเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 1960s) มีการสู้รบระหว่างกองกำลังสองฝ่ายบริเวณพรมแดนของสองประเทศ และนำไปสู่การบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญของทัพเวียดนามในต้นปี 1979
(3) ในช่วงเวลาเดียวกันคือปลายปี 1977ในประเทศไทยเรา ได้เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และในครั้งนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของไทย รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ริเริ่มเดินนโยบายเชิงรุกในหลายเรื่อง เช่นการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 3 ประเทศอินโดจีนคือ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว รวมทั้งการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังดำเนินนโยบายปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี พ.ศ. 2521 ได้เสนอให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกจำคุกและต้องหลบหนีจากกรณี 6 ตุลา 2519 ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ นอกจากนั้น รัฐบาลเกรียงศักดิ์ยังได้ริเริ่มนโยบายอภัยโทษให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รับการสานต่อในยุครัฐบาล พลเอกเปรม ในรูปของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นั่นเอง
(4) ปีสำคัญที่ต้องจับตามากที่สุดคือปี 2522 หรือ 1979 เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1979 ที่เวียดนามได้กรีฑาทัพบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาไว้ได้ ส่งผลให้เขมรแดงต้องแตกกระเจิงหนีเข้ามาฝั่งไทยและอาศัยดินแดนไทยเป็นฐานในการทำสงครามกองโจรอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นก็มีข่าวว่ารัฐบาลไทยร่วมมือกับจีนในการหนุนช่วยเขมรแดงสู้กับเวียดนาม (ซึ่งยึดครองกัมพูชาไว้ถึง 11 ปีหลังจากนั้น) แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ การทำสงครามสั่งสอนเวียดนามของจีนในเดือนถัดมา (กุมภาพันธ์ 1979) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา
การทะเลาะกันอย่างยืดเยื้อระหว่างจีนกับเวียดนาม รวมทั้งลาวซึ่งเลือกยืนอยู่ข้างเวียดนามดังกล่าว ได้ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อขบวนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ และโดยเฉพาะพรรคไทย ซึ่งยืนอยู่ได้ก็ด้วยการหนุนช่วยทั้งของจีน และขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างมาก
หมดกันเลยค่ะ! ฉันเริ่มคิดในใจว่า “...เราคงต้องตกงานอีกแล้ว...” เอ้... เพิ่งทำงานได้ยังไม่ทันครบปีเลย//
ช่วงนั้น ฉันติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง และคิดในใจว่า จีนกับโซเวียตไม่น่าจะทะเลาะกันเลย ฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับการแตกคอกันของสองผู้ยิ่งใหญ่นี้ (ซึ่งจะกล่าวถึงหากมีโอกาสค่ะ) ครั้งนั้นสื่อตะวันตกตีข่าวทำนองว่า คอมมิวนิสต์รบกันเอง ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิครีวิว ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ทำนองว่า จีนเลิกหนุนช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเมื่อรัฐบาลต่อรัฐบาลของสองประเทศหันมาจับมือกัน...
(5) มาดูสถานการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ความจริงแล้วหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 พรรคไทยมีคนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ด้วยจำนวนมาก เรียกว่าเติบโตขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีพรรคแนวร่วม เช่นพรรคสังคมนิยมเข้ามาร่วม มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมาธิการประสานงานกองกำลังแนวร่วม (คล้ายๆ นี้ค่ะ) (ตามตัวเลขทางการ) กองทัพปลดแอกประชาชนไทยมีกำลังพลนับหมื่นคน มีเขตปลดปล่อยทั่วประเทศสองร้อยกว่าแห่ง รวมมีเขตแทรกซึมกระจายตามในจังหวัดต่างๆ ถึงครึ่งประเทศแล้ว...
แต่...เหมือนฝันร้ายเพียงชั่วข้ามคืน หลังพิงที่มีความสำคัญไม่น้อยของพรรคไทยก็หายวับไป ทุกสำนักที่ตั้งอยู่ในเขตลาวต้องปิดหมด ทุกอย่างที่เคยปฏิบัติร่วมกับเวียดนามก็ยุติทั้งหมด พรมแดนที่เคยอาศัยเดินทางผ่านก็ปิดลงโดยสิ้นเชิง เมื่อพรรคไทยต้องเลือกเข้าข้างจีนในสงครามที่ยืดเยื้อครั้งนี้
และแล้ว...ในที่สุด... ฟ้าก็ผ่าลง สปท.! ... เมื่อเจ้าสำนักเปิดประชุมใหญ่แจ้งกับทุกคนว่า สถานีจะงดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2522 เป็นต้นไป//
จากนั้นฉันก็ได้เห็นสหายหน้าใหม่ๆ ทั้งจากแนวหน้าและจากสำนักหลายๆแห่งในเขตลาว ทยอยเดินทางมาถึงสำนักเราอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งมีข่าวว่า บรรดาสหายจากสำนักแนวร่วมส่วนที่ยังเหลืออยู่ ก็เดินทางเข้าเขตจีนหมด///

Sunday, October 26, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (13)

สำนัก สปท. ที่ยังตราตรึงในความทรงจำ

ขอบคุณภาพทิวทัศน์คุนหมิงจากเน็ต
กลับมาสวัสดีทุกท่านอีกครั้งหลังจากหยุดพักเบรกไปสองสามวันนะคะ บันทึกรำลึกอย่างย่อชุดนี้ก็ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายใกล้จบแล้วค่ะ ใคร่ครวญดูแล้วก็น่าจะเหลืออีกประมาณ 3 ตอนรวมทั้งตอนนี้ด้วย ก็จะถึงวาระอวสานตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้เพื่อรำลึกเหตุการณ์เรื่องราวที่ฉันผ่านพบในช่วงนี้โดยเฉพาะแล้วนะคะ หากทุกท่านสังเกตก็จะพบว่า ฉันได้เลือกเล่าบางเหตุการณ์เพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่ที่เชื่อมร้อยในระยะเวลารวมทั้งหมดประมาณ 5 ปีที่ฉันรอนแรมอยู่ทั้งในป่าเขาและในต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละตอนก็ได้อมเหตุการณ์ย่อยต่างๆ ไว้มากมายที่ฉันไม่ได้นำมาเขียนเล่า เพราะมิฉะนั้น เรื่องรำลึกชีวิตนี้มันก็จะไม่สามารถจบลงใน 15 ตอนแบบนี้ละค่ะ เอาไว้หากว่าใครอยากจะคิดทำซี่รี่แบบเกาหลีนะ ก็จะกลับมาลงแรงเขียนต่อเติมเพิ่มเข้ามาเอาให้ดุเด็ดเผ็ดมันชนิด dig deep ลงในรายละเอียดเชิงมหากาพย์กันอีกทีละกันนะคะ
ในตอนนี้ จะเล่าบรรยากาศในสำนัก สปท. ระหว่างที่ฉันเข้าไปร่วมทำงานและนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่ยังเหมือนสดใหม่อยู่ในความทรงจำของแท้ๆ แบบอินสแต้นท์จากมุมมองของฉัน เพราะสหายท่านอื่นๆ ก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างไปจากฉัน เป็นอันเข้าใจร่วมกันตามนี้นะคะ
สำนัก สปท. หรือสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ในมุมมองของฉันในช่วงที่ฉันได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงาน เป็นสำนักของคนทำงานสื่อค่ะ ฉันประจำอยู่ในกองบรรณาธิการติดตามข่าวเขียนรายงานข่าวต่างประเทศ ซึ่งในกองก็มีสหายร่วมทำงานอยู่ทั้งหมดประมาณ 4-5 คน ดูเหมือนฉันจะอาวุโสน้อยสุดในเวลานั้น ส่วนกองข่าวในประเทศดูเหมือนจะเป็นกองใหญ่ มีสหายอาวุโสทำงานอยู่มากหน้าหลายตา รวมทั้งสหายพจน์ก็อยู่ในกองนี้ด้วยค่ะ เวลาในการทำงานในสำนักแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือเช้าถึงเที่ยงวัน หลังรับประทานอาหาร (มีโรงครัวแยกต่างหาก ห้องอาหารรวมเป็นแบบโต๊ะจีนมีสหายร่วมโต๊ะกันประจำประมาณ 6-10 คน) มีช่วงพักนอนงีบตอนบ่าย (Siesta แบบคนฝรั่งเศส ซึ่งทิ้งเป็นมรดกไว้ในประเทศอินโดจีน) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
เริ่มทำงานช่วงที่สองประมาณบ่ายสองโมงเศษๆ ไปจนถึงประมาณ 4-5 โมงเย็น เลิกงาน สหายก็จะมีเวลาออกกำลังกาย บ้างก็เล่นวอลเล่ย์บอล (สหายพจน์เล่นจนนิ้วซ้นไป 1 นิ้ว) บ้างก็ตีปิงปอง (ฉันจองโต๊ะปิงปองประจำเลยค่ะ) สหายอาวุโสบางคนจะเดินตามถนนในสำนักซึ่งกว้างยาวไม่น้อยค่ะ จากนั้นก็อาบน้ำในโรงอาบน้ำที่มีเตาต้มน้ำใหญ่ควันโขมงอยู่ตลอดเวลา รับประทานอาหารเย็นประมาณ 6 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม จะมีการทำงานอีกช่วงหนึ่งระหว่าง 2 ทุ่มเศษ ถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม แต่บางทีสหายบางคนงานเร่งบ้างไม่เสร็จบ้างอะไรบ้าง บรรยากาศการทำงานแบบโต้รุ่งต้มบะหมี่ชงกาแฟหยาดหยดแบบเวียดนามข้างเตาผิงกลางห้องทำงานจึงเป็นบรรยากาศปกติธรรมดาของกองบรรณาธิการนี้เลยละค่ะ
ดังนั้น ทุกท่านเมื่อหลับตานึกภาพตามฉันมาเรื่อยๆ ก็คงเข้าใจแล้วละค่ะว่า ที่ทำงานของฉันนั้นแวดล้อมด้วยนักเขียนนักวิเคราะห์ข่าวสาร ผู้ใช้และมากด้วยจินตนาการอย่างสูง เพื่อผลิตต้นฉบับที่เมื่อได้รับการนำไปอ่านออกอากาศทางวิทยุ ผู้รับสารที่เป็นสหายทั้งแนวหลังแนวหน้ารวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจ ก็จะได้รับข่าวสารฟังการวิเคราะห์สรุปเสนอแนวคิดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยหลักการและความมีชีวิตชีวาที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายนั่นเองค่ะ
แน่นอนที่สุดค่ะ กองข่าวต่างประเทศที่ฉันร่วมงานอยู่ในครั้งนั้น มีบรรยากาศต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาอย่างเข้มข้นมากๆ เพราะในครั้งนั้นอเมริกาสนับสนุนเผด็จการ ดังนั้น มันจึงสอดคล้องมากกับอารมณ์เกลียดจักรพรรดินิยม เกลียดเผด็จการอย่างมากของฉัน (ช่วงนั้นการต่อต้านอเมริกาเป็นกระแสใหญ่สะพัดไปทั่วโลก) และในระหว่างนั้นเองสถานการณ์ของอเมริกาก็กำลังแย่เนื่องจากเพิ่งพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามต้องล่าถอยต้องถอนทหารนับแสนคนออกจากสมรภูมิที่เวียดนาม เราจึงพบว่าการเคลื่อนไหวของอเมริกามักจะเข้าแนวทางการวิเคราะห์ของฝ่ายประชาชนที่ว่า จักรพรรดินิยมนั้นใกล้ตายชอบที่จะยกก้อนหินทุ่มขาตัวเองอยู่ประจำ คือมักจะเลือกทำอะไรๆ ที่จะทำให้ตัวเองแย่ลงเรื่อยๆ เสมอ
และตามประสาการมองไกลไปข้างหน้าเสมอของเหล่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งปวง ก็ทำให้คนในขบวนการนี้มักจะมีจินตนาการเห็นทะลุทะลวงไปว่า แม้หนทางจะคดเคี้ยว แต่การต่อสู้ของประชาชนนั้นถูกต้องมีความเป็นธรรม จึงมีอนาคต และจะได้รับชัยชนะในที่สุดอย่างแน่นอนค่ะ ขวัญกำลังใจสูงมากๆ ในเวลานั้น
อย่างไรก็ตามสหาย ในสำนักก็ใช่ว่าจะนั่งอึดทึดอยู่แต่ในเก้าอี้เท้าแขนกันทั้งวันทั้งคืน ดังที่กล่าวแล้วว่า มีช่วงเวลาการพักการทำงานการเล่นกีฬา นอกจากนั้นยังมีช่วงของการบันเทิง มีวันหยุดที่ได้ออกไปซื้อของในเมืองคุนหมิง มีการจัดทัศนศึกษาเดินทางไปเยือนสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นระยะๆ เช่นไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฟุเจี้ยน หูหนาน เป็นต้น และที่สำคัญ สหายทุกคนมีโอกาสร่วมใช้แรงงานในแปลงผักหลังสำนัก ที่มีทั้งผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ถั่วลันเตา มีการสับเปลี่ยนกันไปรดน้ำรดปุ๋ย เก็บเกี่ยว ฯลฯ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

เอาละค่ะ ทั้งหมดที่เห็นและเป็นอยู่นั้น ก็เป็นที่ทราบกันว่า หลักๆ มาจากการช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งพรรคพี่น้องในอินโดจีนที่เป็นเสมือนหลังพิงที่สำคัญให้แก่พรรคไทยนั่นเอง คิดง่ายๆ ถ้ามีสำนักทำนองนี้ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ก็คงถูกทิ้งระเบิดราบเป็นหน้ากลองไปนานแล้วนั่นเอง///

Wednesday, October 22, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (12)

ขอกราบขอบพระคุณ “คุณลุงกุหลาบ” ค่ะ

ฉันได้รับการต้อนรับจากสหายในสำนักอย่างอบอุ่น... “ที่นี่มี 4 ฤดูในวันเดียวนะ สหายต้องเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝน กับเสื้อกันหนาวหนาๆ ไว้ตลอด” สหายคนหนึ่งบอกถึงลักษณะพิเศษที่น่าทึ่งของเมืองคุนหมิง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,800 เมตร ออกซิเจนก็ค่อนข้างเบาบาง ต้องสูดหายใจลึกๆ พวกนักกีฬาที่มาจากพื้นราบมาแข่งขันที่นี่น๊อคมาเยอะแล้ว” สหายอีกคนหนึ่งเล่า และมีสิ่งที่สหายเกือบทุกคนที่นี่ต้องการอย่างมากก็คือ การได้รับฟังเรื่องราวจากแนวหน้า โดยเฉพาะที่ภาคใต้ค่ะ ฉันก็เล่าให้สหายฟังตามที่ตนเองเห็นและได้ผ่านมาค่ะ ดูท่าทางสหายทุกคนมีความกระตือรือร้นที่ได้รับฟังเรื่องราวจากแนวหน้าค่ะ...
เหตุการณ์ตอนไปถึงใหม่ๆ ที่จำได้แม่นคือ ทุกคนที่นี่ต้องมีของประจำตัวสองอย่างที่ขาดเสียมิได้นั่นคือ “กาละมังแช่เท้ากับกระติกน้ำร้อน” เพื่อทำพิธีกรรมก่อนเข้านอนในเตียงที่มีผ้านวมหนานุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมีฤดูกาลที่ไม่แน่นอน ทุกห้องจึงไม่มีเครื่องทำความอุ่น ในวันที่อากาศหนาวมาก ทุกคนใช้กระติกน้ำร้อนซุกไว้ใต้ที่นอน และก่อนนอนก็เอาเท้าแช่น้ำอุ่น ส่วนหนึ่งก็เป็นการทำความสะอาดเท้า และสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายตามธรรมชาติด้วยค่ะ (นึกถึงซีรี่เกาหลี ฉากที่พระเอกล้างเท้าให้นางเอกไหมคะ? แต่..อันนี้นางเอกแช่เท้าล้างและนวดเท้าเองอย่างเอาจริงเอาจังค่ะฉากนี้)
“ห้องพักนี้เดิมเป็นห้องที่พักของคุณลุงกุหลาบ” สหายพจน์ (ชื่อจัดตั้งของสามีค่ะ) เริ่มเล่าแบคกราวน์ดาต้าให้ฉันฟังไปเรื่อยๆ ฉันตื่นเต้นมาก “กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา ของนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ น่ะเหรอ?”
โอ... เราได้อยู่ในห้องที่เคยเป็นที่พำนักของนักคิดนักเขียนที่โดดเด่นมากของเมืองไทยเลยหรือนี่?
รู้สึกตื้นตัน... ตื่นเต้น... เป็นปลื้ม...
สหายพจน์เล่าว่า คุณลุงพักอยู่ที่นี่หลายปี และเพิ่งเสียไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี่เอง (คุณลุงกุหลาบถึงแก่มรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2517 ค่ะ) และสหายเจ้าสำนักที่นี่เพิ่งเปิดห้องนี้ให้เรามาพักอยู่ “รู้สึกจะเป็นห้องเดียวที่มีห้องน้ำที่เป็นโถชักโครกแบบตะวันตก” โอ... ช่างเป็นบุญที่เคยสร้างมาแต่ปางใด... มีห้องเก็บของเล็กๆ ฉันสังเกตเห็นสหายพจน์แอบสะสมพวกสาหร่ายที่เป็นแผ่นๆ รวมทั้งเส้นบะหมี่ซองๆ เอาไว้จำนวนหนึ่งด้วย “กลัวขาดไอโอดีน” สหายบอก เอามาต้มกินเป็นครั้งคราวโดยมีเตาไฟฟ้าเล็กๆ อยู่ในห้องด้วย ...เลิศ!
คืนแรกที่สำนักนี้ฉันหลับสนิทเป็นตายไปกี่ชั่วโมงไม่ได้นับ แต่เมื่อฉันตื่นขึ้นลงจากเตียงมองไปข้างนอกจากหน้าต่างกระจก บรรยากาศเช้ามืดภายในสำนักยังเงียบสงัด แต่... แต่ฉันมองเห็นอะไรแปลกๆ เป็นสีขาวโพลนทั่วไปหมด... หิมะนั่นเองค่ะ หิมะตกในคืนแรกที่ฉันมาถึง! ฉันตื่นเต้นมาก... เพราะก็เพิ่งเห็นหิมะจริงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่นี่แหละค่ะหิมะแอบตกในคืนที่ฉันเพิ่งมาถึง! เชื่อแล้วที่ว่าวันๆ หนึ่งมีหลายฤดู (ยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งพบว่ามันเป็นเช่นนั้นค่ะ) หลังจากนั้นสหายทั้งสำนักก็ตื่นเต้นกับหิมะที่เพิ่งตกครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีเลยทีเดียว สหายพาฉันไปซื้อรองเท้าสำหรับใส่กันหิมะกัด โดยแนะนำให้ซื้อบู๊ทหุ้มข้อหนังกลับสีน้ำตาลเข้ม มันก็ได้เป็นรองเท้าคู่เก่งตลอดช่วงที่แนวหลังนี้ค่ะ...
จากนั้นไม่นานนักนะคะ ฉันก็ได้เข้าทำงานในแผนกงานเขียนรายงานข่าวต่างประเทศของ สปท. โดยดูเหมือนฉันจะเป็นคนเดียวในแผนกนี้ที่ใช้แหล่งข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่สหายคนอื่นๆ สามารถฟัง อ่าน พูดและอาจรวมทั้งเขียนภาษาจีนได้
ฉันดีใจที่ได้มาทำงานที่ตนเองถนัด และที่นี่รับหนังสือเอกสารรวมทั้งแมกกาซีนข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่ไม่น้อย เช่นมีทั้ง ไทมส์, นิวส์วีค, ฟาร์อิสเทิร์นอิโคโนมิกส์รีวิว, ยูเอสนิวส์แอนด์เวิร์ลรีพอร์ต, ปักกิ่งรีวิว, ซินหัวนิวส์ เป็นต้น รวมทั้งมีเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นที่มีกำลังสูงสามารถรับสัญญาณได้อย่างชัดเจนกว่าตอนที่อยู่ในป่าที่ภาคใต้ ฉันได้พัฒนาความเร็วในการจดข่าวที่รับฟังจากวิทยุขึ้นมาชุดหนึ่ง (เป็นพวกสัญลักษณ์และตัวย่อต่างๆ) จนสามารถจดรายละเอียดของข่าวที่รับฟังจากวิทยุได้เกือบครบถ้วน จึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งข่าวได้อีกส่วนหนึ่งด้วย
ได้รับทราบจากสหายว่า บรรดาหนังสือนิตยสารภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในสำนักนี้นั้น มีมาตั้งแต่ครั้งที่คุณลุงกุหลาบซึ่งพำนักอยู่ที่นี่ เป็นผู้อ่านหนังสือเหล่านี้ ต่อมาภายหลังฉันยังได้พบนิตยสารฉบับเก่าๆ ย้อนหลังไปหลายปีเก็บอยู่เป็นห้อง ทั้งหมดเลยกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของฉันเลยค่ะ ถ้าฉันหายไป หาตัวได้ที่ห้องนี้เลยค่ะ ห้องหนังสือเก่าๆ ของคุณลุงกุหลาบนี่เองค่ะ

ฉันรู้สึกขอบคุณคุณลุงกุหลาบอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทิ้งมรดกอันล้ำค่าเหล่านั้นไว้... ให้ฉันได้ใช้ประโยชน์ระหว่างที่พำนักและปฏิบัติงานอยู่ ณ สำนักแนวหลังแห่งนี้ 
ขอกราบขอบคุณท่านอย่างหาที่สุดมิได้ค่ะ///

Tuesday, October 21, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (11)

ฉันเลือก... ความสำนึกในบุญคุณ

ขอบคุณภาพจาก Pinterest
ตัดฉากมาที่นี่เลย เพื่ออยากบอกให้รู้ว่า ในที่สุดในช่วงเวลาราวกลางๆ ปี 2521 ฉันก็ได้เดินทางมาบรรจบพบกับสามีที่สำนักแห่งหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้เวลาในการเดินทางรอนแรมอยู่อีกประมาณ 2-3 เดือนค่ะ
คราวนี้มีฉันเดินทางรอนแรมอยู่เพียงคนเดียวแล้วค่ะ... Lonely Planet เดินทางโดดเดี่ยวเทียวไปในป่าเขาเลยค่ะ ไม่มีหมู่คณะ ไม่มีน้อง ไม่มีพี่ที่เป็นอย่างเราๆ มีแต่สหายอ้ายน้องลาวที่มารับช่วงต่อๆ กันเป็นทอดๆ...
เส้นทางที่ฉันข้ามผ่านคราวนี้ ดูตามแผนที่ในรูปนั้นโดยประเส้นเชื่อมจากปากแบ่งเบี่ยงออกไปทางแขวงอุดมไชย (? ไม่แน่ใจน่ะค่ะ) จำได้ว่าผ่านเมืองลา ซึ่งมีสำนักใหญ่แห่งหนึ่งของเราอยู่ที่นั่น ก่อนไปเชียงรุ้ง แล้วจึงต่อไปจนถึงคุนหมิงโดยเครื่องบินนั่นเองค่ะ (อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่เดินจริงๆ อาจไม่ตรงเป๊ะเหมือนในภาพนัก เพราะผ่านเวลามาเกือบ 40 ปีก็อาจจะคดเคี้ยวอ้อมไปอ้อมมามากกว่าก็เป็นได้นะคะ)
ระหว่างการเดินทางและพักแรมระหว่างทาง ซึ่งมักจะได้พักตามบ้านที่เหมือนจัดไว้โดยเฉพาะ มาคนเดียวก็พักคนเดียวทำนองนั้น บางแห่งพักอยู่นาน บางแห่งก็พักไม่กี่วันตามเส้นทางเหล่านั้น ฉันพยายามไม่คิดอะไรเลย ทำจิตใจให้ว่างเปล่าและตอบสนองเฉพาะสิ่งที่ตั้งวางอยู่ตรงหน้าเท่านั้น... ตลอดการเดินทาง ฉันเกือบไม่ได้พูดอะไรเลยค่ะ เพราะผู้ที่เป็นคนพาฉันเดินทางไปส่วนใหญ่เป็น “อ้ายน้องลาว” ที่แต่งตัวแบบพลเรือนเดาว่าน่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่นของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว พวกเขาสุภาพเรียบร้อยมีมารยาทเยี่ยงผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี เขาได้ดูแลการเดินทาง ที่พัก อาหาร และได้ส่งต่อฉันเป็นทอดๆ ไปจนตลอดรอดฝั่ง... สาธุ... น่ารักน่านับถือจริงๆค่ะ
ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังการเดินทางครั้งนี้ ฉันขอซาบซึ้งในบุญคุณค่ะ/
ขณะเดินทางฉันยังคงสวมเสื้อผ้าชุดคล้ายทหาร –ชุดเก่งของฉัน- เพียงแต่ไม่ได้คาดบิดง (เข็มขัดที่มีบิดง คือหม้อแฝดใส่อาหารห้อยอยู่ข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ฉันมักใส่ข้าวเหนียวจนอัดแน่นทุกวัน แหะๆ ..ไม่ใช่เข็มขัดปืนค่ะ) อาหารส่วนใหญ่ที่ฉันรับประทานระหว่างเดินทางโดดเดี่ยวเที่ยวนี้ ส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋อง จำพวกเนื้อสัตว์ ดูที่ข้างกระป๋องส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศแถบยุโรปตะวันออก เมื่อก่อนก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั่นละค่ะ จำได้มีอยู่ช่วงหนึ่งกินตับบดกระป๋องเกือบทุกวัน เป็นตับบดกระป๋องมาจากฮังการีทีเดียวเลยค่ะ 
ชาวลาวที่พบเห็นฉันระหว่างทาง มักจะทักว่าฉันเป็น “คนจีน” เพราะเขาดูที่ทรงผม ว่าฉันไว้ผมซอยสั้นแบบคนจีน ผู้หญิงลาวโดยทั่วไปยังคงไว้ผมยาวเกล้ามวย ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ตามหมู่บ้านชายแดนแบบนั้น และ ตามเส้นทางที่รถแล่นผ่าน ก็มักจะพบสถานีซ่อมสร้างถนนที่มีคนจีนทำงานอยู่เป็นระยะๆ ...
ช่วงที่ฉันได้ขึ้นรถโฟร์วีล ที่สหายอ้ายน้องขับผ่านถนนที่ลัดเลาะป่าเขาไปเรื่อยๆ (น่าจะเป็นช่วงที่เดินทางจากเมืองลาไปเชียงรุ้ง – เดานะคะอาจจะผิด) เป็นระยะการเดินทางที่ค่อนข้างยาวนานพอสมควร วิวสวยมากตลอดทางค่ะ ฉันมองวิวข้างทางตาไม่กระพริบ ถ้าฉันเป็นศิลปินวาดภาพที่เห็นระหว่างนั้น ภาพวาดของฉันจะออกมาคล้ายภาพลายเส้นแบบโบราณของจีนที่เราเห็นเป็นวิวต้นไม้ริมหุบเขาสูงที่มีลำต้นคดงอแต่ใบแผ่ขยายรับแสงอาทิตย์มีเมฆสีขาวคลอเคลียร์ตัดกับสีเขียวของใบและสีเทาอมครีมของกิ่งก้าน มองต่ำเป็นหุบเหวลึกลงไปเบื้องล่างบางครั้งก็ได้เห็นน้ำในลำธารที่ไหลรินๆ บ้าง ซ่าๆ เป็นฟองขาวเมื่อผ่านโขดหินบ้าง และมองสูงขึ้นไปผ่านช่องใบและผ่านยอดไม้ เห็นยอดเขาลิบๆ กับก้อนเมฆ ... คล้ายๆ แบบนี้ละค่ะ สวยคลาสสิกมากฉันว่านะ//
ปลายทางของฉันครั้งนั้นคือสำนักที่เป็นที่พำนักและปฏิบัติงานของทีมงานที่ผลิตรายการออกอากาศของวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย หรือเรียกย่อๆ กันว่า สปท. นั่นเอง ส่วนแหล่งที่ออกอากาศปิดลับมาก ถึงเวลาก็จะมีคนมารับเทปไป จนถึงทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่ทราบว่ารายการทั้งหมดออกอากาศจากที่ไหน และไม่อยากเดาไม่เคยถามไม่รู้ดีกว่าค่ะ //
(แต่กระนั้น เวลาได้เดินทางออกจากสำนักไปที่ไหนก็ตาม ฉันมักจะแหงนมองสอดส่ายสายตาจนคอตั้งบ่าว่า อาจจะเห็นเสาวิทยุออกอากาศอยู่ตามภูเขาที่รถผ่านไป... ก็แห้วตลอด!)
นอกจากสามีแล้วฉันก็ได้พบสหายอีกหลายคนที่มาจากในเมืองและเข้ามาร่วมงานกันที่นี่...ค่ะ
และ...นอกจากความตื่นเต้นแล้ว ...ที่บ่าล้นอยู่ภายในใจของฉันคือ ความสำนึกในบุญคุณทุกคนทุกภาคส่วนที่ได้อุตส่าห์ส่งให้ฉันได้มาจนถึงตรงนี้อย่างครบถ้วนทั้งกายใจ

รู้สึกตื่นเต้นและซาบซึ้งจริงๆ ค่ะในตอนนั้น///

Sunday, October 19, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (10)

โรงเรียนการเมืองการทหารสำนัก 61 อันเลื่องลือ...

ขอบคุณภาพหญิงชาวลั๊วะจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
มาถึงวันนี้ ฉันยังอยากจะกล่าวคำว่าขอโทษและขอบคุณ “สำนัก 61” ที่สามารถรับมือกับนักเรียน (โข่ง) ที่เสียคิดมาจากในเมืองอย่างฉันจนกระทั่งตลอดรอดฝั่งไปได้... โดยเฉพาะในการโน้มน้าวให้ฉันเต็มใจเข้าเป็นนักเรียน “รุ่นแรก” ณ โรงเรียนการเมืองการทหารแห่งนี้ซึ่งกินเวลาประมาณ 6-8 เดือน... ฉันเสียคิดเมื่อฉันได้รับรู้จากสหายที่เจอกันที่กลางทางว่า ฉันยังจะต้องมาเข้าโรงเรียนก่อน เพราะนั่นมันทำให้ใจของฉันที่บินเตลิดล่วงหน้าไปไกลแล้ว หมดแรงร่วงลงกลางทางอย่างสิ้นท่า...นั่นเอง... ฉันรู้ว่า ณ เวลานั้นมีคนน้อยมากที่จะเข้าใจภาวะจิตใจของฉัน ทุกคนก็จะมองว่าฉันเป็นผู้ใหญ่แล้วและก็มักจะคิดว่าฉันควรจะเรียกร้องตัวเองมากกว่าคนอื่นๆ แต่ทุกคนก็ลืมไปว่าฉันไม่มีฐานะอะไรในองค์กรจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ฉันไม่คุ้นเคยกับ “จัดตั้ง” อะไรพวกนั้นเท่าไหร่เลย...
อย่างไรก็ดี ฉันก็ได้ใช้ความพยายามซ่อมสายป่านของตนมาตลอดทางก่อนถึงสำนัก...
แต่เมื่อฉันได้มาถึงสำนัก เมื่อฉันได้พบกับสหายอาวุโสที่เป็นเจ้าสำนัก ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นคนภาคกลางพูดสำเนียงเสียงเบาสุภาพมาก แว่บหนึ่ง/ สหายท่านนั้นทำให้ฉันคิดถึงบิดาของตัวเองอย่างมาก “สหายต้องเข้าโรงเรียนสักหน่อยนะ ทุกคนก็ควรต้องผ่านจากที่นี่เหมือนๆ กันก่อน ใช้เวลาไม่เท่าไหร่หรอก”... จำได้ว่าคำพูดนั้นธรรมดามากแต่ท่าทีต่างหากที่ไม่ธรรมดา ฉันรู้สึกได้ว่า สหายท่านนี้มีความมุ่งมั่นและเหมือนพูดออกมาจากการใคร่ครวญที่รอบคอบแล้ว ทำให้ความรู้สึกด้านลบที่ตกค้างในใจฉันค่อยๆ คลี่คลายสลายตัวหมดไปๆ...
ประกอบกับการที่ได้พบบรรยากาศที่คึกคัก และพบว่าบรรดาผู้นำนักศึกษาและมวลชนระดับแถวหน้าๆ ของขบวนจากทุกสารทิศมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ค่ะ ซึ่งหลายคนต่อมาภายหลังก็ได้กลายเป็นนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการศึกษา อาจารย์ข้าราชการระดับสูง เป็นนักธุรกิจ นักเล่นหุ้น เป็นผู้รับเหมา และอีกหลายคนยังคงมีบทบาทเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในสังคมอยู่ในปัจจุบัน
ระหว่างนั้น พวกเค้ากำลังร่วมแรงกายแรงใจกันสร้างและขยายสำนักเพื่อเตรียมต้อนรับนักเรียนใหม่ๆ ที่ต่างกำลังเดินทางมุ่งหน้ามา คนหนุ่มสาวเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีพลังทั้งทางความคิดความสามารถอย่างมาก เพียงการเคลื่อนไหวทำโน่นนี่ของแต่ละคน ก็สามารถสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาทั่วทั้งสำนักในขณะนั้นค่ะ
บางคนบางกลุ่มก็ไปตัดไม้แบกข้ามเขาข้ามห้วยมาแปรรูปใช้ในสำนัก บางคนเดินทางไปขนเสบียงข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งต้องเดินข้ามพรมแดนไปฝั่งลาว บางคนไปถึงปากแบ่ง พบเจอสิ่งใดที่จะสามารถช่วยสหายเรื่องอาหารการกินได้ก็ซื้อหาแบกหิ้วมาอย่างไม่ขาดสาย เช่นน้ำพริก น้ำปลา น้ำตาล แม้กระทั่งผงชูรส ฯลฯ แต่การไปเป้เสบียงจากสำนักฝั่งลาวนั้น สหายแต่ละคนจะมีภาระหน้าที่ผลัดกันลงไปเป้ขึ้นมาอยู่เป็นกิจวัตรอยู่แล้วค่ะ
นอกจากนั้น ในระหว่างการศึกษา ก็จะมีเซสชั่นหนึ่งถ้าจำไม่ผิด เพราะฉันชอบเซสชั่นนี้มาก คือการเดินทางไปหามวลชน ไปเยี่ยมเยียนไปคลุกคลีไปอยู่กับเขาเพื่อศึกษาเรียนรู้รูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของมวลชน ฉันจำได้ว่าตัวเองได้ไปเยี่ยมและพักค้างในบ้านของมวลชนชาวลั๊วะ มีลูกผู้ชายผิวคล้ำ เป่าใบไม้เป็นเสียงเพลงได้ ยิง (เป่า) ลูกดอกแม่นมากๆ บ้านมวลชนเหล่านี้ทุกบ้านมีเตาผิงไฟอยู่ในบ้าน ทำอาหารกินตรงนั้น นอนตรงนั้น บริเวณใต้ถุนก็จะเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง (ถ้ามีนะคะ) ที่ยังจำได้แม่นก็คือ มวลชนชาวบ้านเขามักจะต้มข้าวโพดฝักเล็กๆ ที่เมล็ดงามเป่งเอาไว้ต้อนรับให้เราแทะเล่นระหว่างนั่งคุยกันรอบกองไฟด้วย พูดคุยกันสารพัดเรื่องจนผล็อยหลับกันไปบริเวณใกล้เตาไฟ ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นฮีทเตอร์ไปในตัว เพราะอากาศบนภูหนาวมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวปลายปีช่วงนั้นพอดีค่ะ... นี่เป็นฉากที่ชอบ ซึ้งและตรึงใจมากๆ เลยค่ะ
ในระหว่างการเดินทางไปตามหมู่บ้านของมวลชนครั้งหนึ่ง ร่วมกับสหายหญิงกลุ่มหนึ่งในช่วงขากลับ ฉันก็พบว่าตัวเองเกิดประจำเดือน (เรียกมันว่าประจำปี) เกิดมากะทันหัน! ทำไงดีฉันลืมมันไปเลย ฉันไม่มีอะไรติดตัวมาเลย ผ้าอนามัยหรือผ้าอะไรก็ไม่มี... สหายหญิงจากในเมืองในกลุ่มทราบเหตุ ก็ได้แบ่งผ้าอนามัยที่เธอแบกมาจากในเมืองเมื่อหลายเดือนยังอยู่ในเป้ เธอล้วงจากเป้ยื่นให้ฉัน ...เอ้อ/ มันเป็นผ้าอนามัยแบบสอดซึ่งฉันไม่คุ้นเคย และแถมซองภายนอกฉีกขาดไปบ้างเนื่องจากแบกไปมาเป็นเวลานาน แต่ฉันก็รับมาด้วยความขอบคุณ มันเป็นเหตุฉุกเฉินทุลักทุเลไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้อีกแล้วค่ะ//
ระบบรอบเดือนของฉันคืนกลับมา... ฉันถือว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับตัวเองค่ะ ว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีจากนี้ต่อไป จวบจนกระทั่งถึงเวลาที่ทุกคนเรียนจบหลักสูตร...
และถึงเวลาที่จะต้องแยกย้ายกันไปเพื่อปฏิบัติภารกิจของแต่ละคนแต่ละหมู่เหล่ากันต่อไป...รวมทั้งฉันด้วย///

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (9)

Walking… Breathing… and …Having concentration!

เดิน... หายใจ... และ...มีสติ!  เป็นกฎเหล็กหรือข้อพึงปฏิบัติสำหรับการเดินขึ้นภูเขาที่ฉันสรุปได้จากการเดินทาง (อย่างบ้าคลั่ง) ในช่วงเกือบสองปีในป่าเขาค่ะ
ขอบคุณภาพจาก Pinterest ค่ะ
...ฉันไม่ได้คิดว่าเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่แบบ - ยูเรก้า – หรืออะไรทำนองนั้นหรอก มันก็แค่เป็นบทเรียนจากการดำเนินชีวิตช่วงหนึ่งที่ไม่ปกติ ที่แปลกออกไปจากที่คุ้นเคยเท่านั้นค่ะ...แต่มันก็เป็นบทเรียนจากชีวิตที่ฉันนำมาใช้ได้จนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเดินขึ้นบันไดสะพานข้ามถนน หรือบันไดทุกแบบในโลกนี้ ฉันก็พิชิตมันได้อย่างราบคาบมาทั้งหมด รับรองว่ามันใช้ได้จริงๆ ค่ะ
........
จริงๆ แล้วการเดินทางไกลมากับกองคาราวานครั้งนั้น แม้จะรอนแรมแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้สักเท่าใด แต่ฉันกลับรู้สึกผ่อนคลายลิงโลดเริงร่าร้องรำทำเพลงร่วมกับสหายมาเกือบตลอดทาง... ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าฉันได้ผ่านการปรับตัวปรับใจปรับกายกับชีวิตที่รอนแรมแบบนี้ได้ในระดับที่แน่นอนแล้ว โดยที่สำคัญฉันเริ่มมีร่างกายและแขนขาที่แข็งแกร่งขึ้นสามารถรับมือกับการเดินขึ้นภูลงภูได้มากขึ้นแล้ว...
สหายแต่ละคนที่อยู่ในกองคาราวานแม้มาจากคนละที่ทางกัน ส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมมีบทบาทต่างๆ ในขบวนการต่อสู้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีที่เป็นคนหนุ่มสาวที่ทำงานมีครอบครัวแล้วอย่างฉันไม่มากนัก โดยทั่วไปจึงมักมาเป็นกลุ่มเล็กๆ และเพิ่งรู้จักกันในระหว่างที่เดินไปด้วยกัน แต่ทุกคนก็มีความรู้สึกเป็นมิตร รู้สึกเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันเหมือนเป็นญาติพี่น้องเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์กัน ใครลื่นล้มก็ช่วยกันพยุงให้ลุกขึ้นมา ใครเจ็บหัวปวดท้องใครมียาติดมาก็แบ่งปันให้กัน ดูแลซึ่งกันและกันไประหว่างการเคลื่อนขบวนไปข้างหน้า...
ฉันคิดว่า อย่างน้อยการเดินไปข้างหน้าที่ดูเหมือนมีเป้าหมายแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่าจำเจอยู่กับที่/
........
จากการที่ต้องเดินไปลุยไป จากที่ต้องลื่นล้มลุกคลุกคลาน ผ่านฝนเปียกปอนผ่านร้อนผ่านหนาวอย่างโชกโชน และบางครั้งก็โชกเลือด (ทั้งจากบาดแผลและจากการโดนทากดูด) ฉันก็ค่อยๆ พบว่าในราวป่าช่างเต็มไปด้วยชีวิตชีวา นอกจากมีเรื่องตื่นเต้นที่ผ่านเข้ามาไม่เว้นแต่ละวันแล้ว ระหว่างที่เดินก็เหมือนได้ฝึกสมาธิ ได้ฝึกฝนความอดทนของตนเอง ฝึกหายใจฝึกเดินไปตามจังหวะการหายใจ จากนั้นมันได้ทำให้ฉันค้นพบกฎเกณฑ์ในการเดินขึ้น-ลงภูเขาที่สูงชันขณะต้องแบกเป้สัมภาระไว้บนหลังที่มีน้ำหนักไม่น้อย โดยที่ไม่เหนื่อยมากและเดินได้ทนมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้กล้าท้าทายไม่กลัวการปีนภูเขาสูงเหมือนที่ผ่านๆ มา...
ก่อนจะรู้ตัว / ฉันก็ได้หลงรักการเดินทางในป่าเขาเข้าไปแล้วอย่างหมดใจเลยจริงๆ... บอกได้เลยว่า ฉันได้พบว่าการเดินทางนี่ช่างวิเศษจริงๆ ค่ะ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ผ่านจุดพักยาว ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ที่นั่นทุกคนได้รับแจกเสื้อผ้าชุดใหม่สีเขียวคล้ายทหาร และรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ / ย้ำค่ะ รองเท้าผ้าใบแบบหุ้มข้อค่ะ! อย่างหลังเนี่ยมันช่างวิเศษ “ใช่เลย! –พระเจ้าจอร์จมันยอดมากๆๆ ฉันถึงกับเอ่ยปากขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์เลยละค่ะ จากนี้ไปฉันจะสามารถปลอดจากการคุกคามของทากโดยเด็ดขาด ฉันจะสามารถก้าวเดินอย่างมั่นคง บุกน้ำลุยไฟขึ้นเขาลงห้วยอย่างห้าวหาญไม่หวั่นเกรงอีกต่อไปแล้วค่ะ...
กฎเกณฑ์การเดินขึ้นเขาขณะแบกเป้โดยการสาวเท้าไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับจังหวะการหายใจ หายใจให้ลึกถึงปอดเป่าลมออกทางปากและสูดลมเข้าให้สอดคล้องกับจังหวะการก้าวเดินของเท้า อย่าสติหลุด มีถุงเท้าสวมซ้อนกันสองชั้นมีรองเท้าดีมีกางเกงขาจั๊มกลัดกระดุมที่ปลายขาแล้วไม่ต้องหวั่นเกรงทากหรือสัตว์เลื้อยคลานชนิดใดๆ อีก...
ครั้งนั้นฉันรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ และฉันคงเผลอตัวคิดว่าฉัน “บรรลุ” แล้ว ฉันจะโบยบินไปอย่างอิสรเสรี ฉันเกือบหลงผิดคิดว่าตัวเองจะได้มีอิสระแล้ว ถ้าหากไม่ได้บังเอิญมาเจอสหายคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมทางเดินช่วงสั้นๆ ก่อนที่ฉันจะถึงสำนัก 61 สหายคนนี้แหละค่ะที่ทำให้ฉันสายป่านขาด สติตกแตกกราวเมื่อเค้าพูดกับฉันว่า...

“เธอต้องไปเข้าโรงเรียน (การเมืองการทหาร) ที่สำนัก 61 ก่อน” นั่นเป็นคำพูดสั้นๆ ของเค้าที่ดังซ้ำไปซ้ำมาในสมองของฉันอยู่หลายวันเลยค่ะ...

Thursday, October 16, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (8)

เดินทางต่อ...ตกสวรรค์ (แอ้ก!)

ฉันพักอยู่ที่เขตฐานที่มั่นเขตรอยต่อสามจังหวัดเพียงไม่กี่วัน ก็มีกำหนดการเดินทางต่อค่ะ...!
ขอบคุณภาพจากเน็ตค่ะ
การเดินทางครั้งนี้อลังการงานสร้างมากมาย จัดเป็นกองคาราวานใหญ่ที่คิดๆ ดูเหมือนกับการเย้ยฟ้าท้าดินอย่างแรงเลย เพราะหากเดินเรียงหนึ่งกองคาราวานนี้ก็น่าจะยาวเป็นหลายกิโลเมตรเลยละค่ะ พากันเดินเล็ดลอดตลอดเส้นทางมาได้ยังไง มันเหมือนฝันๆ เอาแต่มันเป็นจริง เดินรอนแรมผ่านป่ามาจริงอะไรจริงเลยค่ะ
(หากสหายท่านใดที่ร่วมชะตากรรมอยู่ในช่วงนี้ด้วย กรุณาเขียนเพิ่มเติมมาเข้ามาให้ก็จักขอบคุณมากนะคะ)
กองคาราวานนี้ประกอบด้วยสหายที่มาจากหลายกลุ่ม ซึ่งมาร่วมเดินทางไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อถึงจุดแยกในเส้นทางบางแห่งสหายบางกลุ่มก็แยกทางไปค่ะ ส่วนเป้าหมายของกลุ่มที่ฉันร่วมเดินเกาะกันมาตลอดทางคือสำนัก 61 หรือ ต่อมาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นโรงเรียนการเมืองการทหารที่นักศึกษาปัญญาชนที่เข้าสู่ป่าเขาเกือบทุกคนต้องผ่านจากโรงเรียนนี้ค่ะ และฉันคาดเดาเอาเองว่า สำนักนี้น่าจะอยู่แถวๆเขตอำเภอปัว จ.น่าน ที่มีพรมแดนติดต่อกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว (ทั้งหมดที่จะเขียนนี้ล้วนเป็นการคาดคะเนเองทั้งนั้น หากสหายที่ทราบดีเห็นว่าผิดกรุณาช่วยแก้ด้วยค่ะ)

ดังนั้นเองสำหรับคาราวานชุดนี้ มันคือการเดินเท้ารอนแรมจากเขตฐานที่มั่น 3 จังหวัด โดยผ่านเข้าเขตประเทศลาว เลียบเลาะไปจนถึงหลวงพระบางจากนั้นก็ต่อเส้นทางมาที่ปากแบ่ง ข้ามโขงที่นั่นแล้วจึงเดินเข้าเขต จ.น่าน (เส้นทางเดินน่าจะประมาณๆ ที่เห็นในแผนที่จำลองในภาพที่นำมาประกอบนี่ค่ะ) ทั้งหมดนี้ใช้เวลาแรมเดือนถ้าจำไม่ผิด

 เริ่มแรกเมื่อเตรียมเดินทาง พวกเราไม่รู้เลยว่าจะเดินไปที่ไหน คงจะเป็นมาตรการป้องกันการเสียลับ สหายจึงไม่ต้องรับรู้ว่าจะเดินไปไหนกัน รู้แต่ว่าต้องเดินทางตามผู้นำทางไปติ๊กๆ เท่านั้นเป็นพอค่ะ
ส่วนฉันก็เดินคิดมาตลอดทางว่า เราน่าจะได้เจอะเจอสามีในไม่ช้านี้ จะได้เจอกันเสียที น่าจะอยู่บนเส้นทางข้างหน้าที่เราจะไปถึง ยิ่งสาวเท้าไปข้างหน้า เราก็จะยิ่งได้ถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว ว่าแล้วก็สั่งตัวเองให้สาวเท้าไปๆอย่างเข้มแข็ง อย่าหยุดยั้งลังเล...

“เอางี้สิ เธอเขียนซีรี่ส์ใช้ชื่อว่า ...เดินทางหมื่นลี้ตามหาสามี...” สหายศัลยาพูดขึ้นมาในวันหนึ่ง ที่เกิดคิดอยากจะเขียนบันทึกการเดินทาง... ฉันหัวเราะแหะๆ และคิดในใจ พวกสหายเฟมินิสต์คงรับชื่อซีรี่ส์นี้มิได้ แต่ฉันตอนนั้นคงดูเหมือนใกล้สายป่านขาด... ฉันตอนนั้นเหมือนได้เก็บงำความคิดความเห็นสักล้านตันไว้ในใจที่อยากจะพูดอยากจะบอกค่ะ...

ฉันก้มหน้าก้มตาเดิน เดิน เดิน เจอทากเกาะก็เด็ดมันทิ้งไปโดยใช้ความเร็วในการเหวี่ยง จำได้ว่าคนที่บังเอิญเดินใกล้ๆ ฉันเป็นนักศึกษามาจากคณะวิทยาศาสตร์ไม่กลัวทาก เธอจับมันปลิ้นเอาเศษไม้เสียบขว้างทุกตัว เรียกขวัญได้มาก/

เส้นทางตอนข้ามไปฝั่งลาวแล้วเดินง่ายขึ้น ทางใหญ่ขึ้นแต่ก็เป็นเส้นทางที่เพิ่งตัดใหม่ เป็นดินลูกรังผ่านป่าไม้หนาทึบ มีหน่วยอ้ายน้องทหารปลดแอกประซาซนลาวเป็นผู้นำทาง ประเทศลาวตอนนั้นปลดแอกเรียบร้อยแล้วตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อ้ายน้องที่เป็นหัวหน้านั่นสะพายปืนกลแม็กกระสุนโค้งยาวมันวับ แล้วตอนย่ำค่ำวันหนึ่งระหว่างที่สหายหยุดพักบริเวณวัดแห่งหนึ่ง เราก็สะดุ้งด้วยเสียงปืนกลรัวชุดใหญ่ ฉันมองขึ้นไปบนยอดไม้เพราะเสียงมันกังวานมาก สักครู่หนึ่งเราก็ได้รับแจ้งว่า สหายอ้ายน้องลาวใช้ปืนกลยิงทากค่ะ ทากที่คอยเกาะดูดเลือดเรามาตลอดทางนี่แหละ... บางคนบอกว่า ยิงเสียบ้างเดี๋ยวกระสุนไม่ได้ใช้ค่ะ...โอ...ยิงทากนั่นเอง...//

เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกลไหมหนอ... ฉันนึกในใจขณะพยายามหลับตาลงอย่างยากเย็นในค่ำคืนนั้น...///

Wednesday, October 15, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (7)

ช่างสวยงามราวกับเดินอยู่บนสรวงสวรรค์

ขอบคุณภาพจากเน็ตค่ะ
ภาพที่ฉันพอจะจำได้ตอนที่นั่งรถเพื่อเข้าสู่เขตฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ไทยที่อยู่บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นฐานที่มั่นใหญ่นั้น มีผู้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเราทั้งสามคนอีกหลายคนค่ะ
จำได้ว่ามีคนที่พาเด็กวัยสักประมาณ 6-8 ขวบไปด้วย... โอ้, ถ้าลูกเราโตขนาดนี้ เราจะพาเค้ามาด้วยแบบนี้ไหมหนอ....?? และแล้วฉันก็ต้องหยุดคิดและ...ในที่สุดก็เลิกคิดไปเลย...!
เมื่อรถหยุดจอดและผู้ที่มาส่งเราบอกว่าถึงที่แล้วให้ลงจากรถ... จำได้ว่าคณะของเราลงจากรถแล้วพากันวิ่งแบบก้มตัวมุดๆ ตามคนที่นำเข้าข้างทางผ่านป่าละเมาะที่มีต้นสาบเสือขึ้นอยู่เต็ม จำแม่นเพราะกลิ่นดอกสาบเสือฟุ้งกระจายทั่วบริเวณ สักพักหนึ่งเราก็ได้มาพบเจอกับ “สหายนักรบ” หรือที่เรียกตัวย่อว่า “ทปท.” (ทหารแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย – ชื่อเต็มๆ ค่ะ) แต่งชุดทหารเต็มยศ สะพายปืนอาก้า รองเท้ายางและหรือผ้าใบหุ้มข้อ สวมหมวกดาวแดง... เท่ห์สุดๆ ค่ะ
แนะนำตัวกันแล้วก็ทราบว่า พวกเขาจะมานำพาคณะของเราเดินทางขึ้นไปสู่ฐานที่มั่นที่อยู่บนภูเขาอีกต่อหนึ่ง... หลังจากนั้นก็พากันเดินไปตามทางที่ยังต้องเดินย่องๆ ไปแบบลับๆ ล่อๆ เราต้องเดินสลับกับการนั่งหมอบหลบวูบๆ วาบๆ เป็นระยะๆ โดยปฏิบัติตามการส่งสัญญาณของ เหล่า ทปท. ที่นำทางเราบอกทุกอย่าง
รายละเอียดต่างๆ ฉันจดจำอะไรได้ไม่มากนัก แต่มีที่ไม่ลืมจนถึงวันนี้ก็คือ (1) ความสุภาพอ่อนน้อม มีระเบียบ และเรียบร้อยของทหาร ใช้วาจาสุภาพทั้งระหว่างกันเองและกับสหายทั่วไป เหมือนได้รับการฝึกมาอย่างดีเลยค่ะ (2) สำเนียงพูดของเหล่า ทปท. รวมทั้งคำศัพท์ที่ใช้ก็แปลกออกไปจากที่เราคุ้นเคยหรือพูดกันทั่วไป ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่า สหายเป็นชาวชนชาติม้งนั่นเอง และ (3) กลิ่นค่ะ กลิ่นโดดเด่นที่ลอยมาเตะจมูกของฉันนับตั้งแต่พบกลุ่มทหาร ทปท. และตลอดการเดินทางคือ “กลิ่นควันไฟ” ค่ะ ซึ่งก็มาทราบหลังจากนั้นว่า สหายเหล่านี้จะซักและตากเสื้อผ้าไว้ใกล้กองไฟเพื่อช่วยอบให้เสื้อผ้าแห้ง เพราะบางทีฝนตกอากาศชื้น ดังนั้น เสื้อผ้าของสหายจึงมีกลิ่นพิเศษเหมือนแซลมอนรมควันเลยนั่นเอง... น่ารักจริงค่ะ
ที่นอนของเราในคืนวันแรกก็คือ บ้านน้อยบนภูเขาในเขตฐานที่มั่นปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ณ บริเวณเขตรอยต่อสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์นั่นเอง ฉันตื่นขึ้นมาตอนเช้ามืดด้วยเสียงที่ไม่คุ้นหู มันเป็นเสียงโหยหวนของหมูที่ดังแหวกอากาศในความมืดอยู่เป็นเวลานานทีเดียวค่ะ...
จากการพูดคุยและบอกเล่าของสหายว่า มักจะมีการจับตัวพวกสปายที่แฝงตัวเข้ามาสืบความลับบนฐานที่มั่น และต้องจัดการสำเร็จโทษกันอยู่บ่อยๆ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจับตัวได้อีกก็โดนสำเร็จโทษไป... ฮือออ... ไม่ปลอดภัยไม่ว่าอยู่ที่ใด...
ขอบคุณภาพจากเน็ตค่ะ
ภาพเช้าวันแรกที่น่าจดจำ สหายหญิงแดงที่ยิ้มแย้มแจ่มใสมารับเราเพื่อเดินไปรับประทานอาหารที่โรงอาหารใหญ่ จำได้ว่า เป็นวันที่อากาศตอนเช้าค่อนข้างเย็น มีหมอกบางๆ เรี่ยรายอยู่ตามทางเดินและกระต๊อบที่พัก เห็นทางเดินกว้างประมาณสามสี่เมตร เป็นดินสีน้ำตาลอมแดงที่ราบเรียบสะอาด ทอดอยู่ระหว่างต้นไม้สูงใหญ่น่าจะอายุนับร้อยปีก็เป็นได้ เบื้องบนมีหมอกบางๆ เรี่ยๆตามแมกไม้ แต่ยังเผยให้เห็นพันธุ์ไม้ป่าลึกประเภทเฟิร์น ฝอยลม เกาะอยู่ตามคาคบไม้และตามกิ่งใบ ดูไปช่างสวยงามราวกับเดินอยู่บนสรวงสวรรค์... (ไม่แปลกใจว่าปัจจุบันได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติและเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ)
แต่ก่อนอื่นต้องไปคารวะรายงานตัวต่อสหายนำของสำนักก่อนค่ะ มีการแนะนำตัวสหายอาวุโสในสำนักหลายท่าน... นี่สหายเล่า... เป็นคำนำหน้าตามด้วยชื่อจัดตั้งที่ทุกคนรู้จักและเรียกกันจนติดปาก รับรู้ทั่วกันจนถึงแนวหน้าแนวหลัง หลายท่านเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชื่อดังของไทย เข้ามาตั้งแต่ยังหนุ่มสาว (กว่านี้) ขณะที่เราพบพวกเขาก็อาวุโสมากแล้ว ที่จำได้จนถึงวันนี้ก็คือสหายอาวุโสเหล่านั้นเกือบทุกคนรู้จักสามีของฉัน บอกว่าเขา (สามีฉัน) ก็ผ่านมาพักที่นี่เหมือนกัน...
สหายหญิงอาวุโสคนหนึ่งบอกว่า เธอเป็นศิษย์เก่าเรียนคณะเดียวกันกับสามีของฉันด้วย ฉันยกมือไหว้เธอผู้นั้นอย่างนอบน้อม เพราะเธอก็เป็นรุ่นพี่ของฉันด้วยเหมือนกัน... 
โอ... มาต่อสู้ในป่าเขาจนกลายเป็นสหายอาวุโสขนาดนี้เลยนะคะเนี่ย...!!
บรรยากาศในโรงอาหารคึกคัก สหายทุกคนต่างรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย รวมทั้งฉันด้วย เพราะวันนี้มีเมนูที่ประกอบด้วยเนื้อหมูและผักจากไร่สดๆใหม่ๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพื่อต้อนรับพวกเราที่เพิ่งขึ้นมาเป็นพิเศษพร้อมกันไป...
โอ... อาหารสดใหม่ ที่พักแบบธรรมชาติและอากาศสดใสบริสุทธิ์...
ที่สำคัญ ไม่ได้ยินเสียงปืนครกเลยค่ะ!///

Tuesday, October 14, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (6)

ภาพพื้นหลังของสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร

การเดินทางขึ้นเหนือเป็นไรที่รอนแรมและยืดเยื้อแต่ตื่นเต้นราวกับหนังอมตะเรื่อง War and Peace ...เลยต้องมี  intermission ค่ะ
ภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ในตอนนี้ ฉันอยากจะพาทุกท่านถอนตัวชั่วคราว ออกมายืนในมุมห่างๆ หรือมุมสูงๆกันสักนิด เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพกว้างของสถานการณ์รอบๆ ตัวของเราในขณะนั้นได้ชัดขึ้นนะคะ
น่าสนใจค่ะ ถ้าหากใครติดตามรับฟังข่าวความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเหมือนๆ กัน คงจำเรื่องราวที่ฉันจะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้ดีนะคะ ช่วงที่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนของไทยถูกปราบปรามอย่างรุนแรงคือกรณี 6 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1976  หรือ พ.ศ. 2519 นะคะ เรามาดูสถานการณ์ก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันนี้ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในการเมืองระดับโลกและระดับภูมิภาค...
มาดูในปีสำคัญคือ 1975 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ปีเดียว มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
(1) ในปีนี้ สหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม กรุงไซ่ง่อนแตก ต้องถอนทหารนับแสนออกจากแผ่นดินเวียดนาม นำไปสู่การรวมสองเวียดนามเข้าเป็นหนึ่งเดียวคือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปีต่อมา
(2) ในปีนี้ เดือนเมษายน กองกำลังเขมรแดงที่จีนหนุนหลังสามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญและประเทศกัมพูชาได้สำเร็จ มีการกวาดล้างผู้คนออกไปจากเมืองหลวงอย่างขนานใหญ่ ทำให้ในเวลาต่อมาผู้นำเขมรแดงในเวลานั้นต้องถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกจำคุกที่ศาลนานาชาติกรุงพนมเปญด้วยความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ขอบคุณภาพเหตุการณ์จากอินเทอร์เน็ตค่ะ
(3) ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง รัฐบาลไทยนำโดยนายกรัฐมนตรีพลเรือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เดินทางไปจับมือกับประธานเหมา เจ๋อ ตง ที่กรุงปักกิ่งและลงนามเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ
(4) ในปีนี้ ในประเทศลาว กองกำลังประเทศลาวฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะรัฐบาล และในปลายปี กษัตริย์ลาวได้ทรงสละราชสมบัติ และให้การนำของประเทศตกอยู่ในอำนาจของคอมมิวนิสต์โดยสิ้นเชิง
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ก่อนหน้านี้ ในปี 1971 เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ นักยุทธศาสตร์และ รมต.ต่างประเทศสหรัฐในขณะนั้น ได้เดินทางไปนครปักกิ่งเพื่อพบปะกับผู้นำจีน และนำไปสู่การพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐกับประธานเหมาเจ๋อตงของจีนในปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1972 ก่อนที่จะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา
 ในปี 1976 หรือ พ.ศ. 2519 ล่ะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
(1) ในประเทศจีนซึ่งในช่วงนั้นอยู่ในระหว่างการรณรงค์ “4 ทันสมัย” นำโดยกลุ่ม 4 คน (Gang of Four) ที่มีสหายเจียง ชิง (ภริยาของประธานเหมา) เป็นหัวหอก มีการโจมตีแนวทางของ เติ้ง เสี่ยว ผิง อย่างขนานใหญ่ แต่ก็ได้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้น นั่นคือการถึงแก่อสัญกรรมของนายกโจว เอิน ไหล และตามด้วยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของประธานเหมา เจ๋อ ตง ในปีเดียวกัน โดยได้ทิ้งถ้อยคำอมตะของการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ฮว่า กั๋วเฟิง ประธานคนใหม่ที่ว่า “คุณทำงานฉันไว้ใจ” แต่สถานการณ์ในจีนอึมครึม มีการต่อสู้ยื้ออำนาจกันภายในกลุ่มนำที่มีความคิดแตกต่างกัน
(2) เวียดนามประกาศรวมประเทศก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเดือนกรกฎาคม และในเดือนสิงหาคม ประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมีรัฐบาลพลเรือนนำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามทันที แต่สถานการณ์ 3 ประเทศอินโดจีนก็เกิดการไม่ลงรอยกัน อันเนื่องจากความแตกแยกทางแนวทางระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อเวียดนามซึ่งได้การหนุนหลังจากสหภาพโซเวียตได้รับชัยชนะ รวมทั้งลาวในขณะนั้น ก็ขัดแย้งกับเขมรแดงที่หนุนหลังโดยจีน เริ่มมีการกระทบกันประปรายที่บริเวณพรมแดนที่ต่อเนื่องระหว่างจีน-เวียดนาม-ลาว-ไทย บริเวณนั้น
ภาพสถานการณ์ในช่วงนั้นมันเป็นแบบนี้ค่ะพี่น้อง และก็ยังมีสถานการณ์ที่พัฒนาต่อเนื่องไป ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อขบวนการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

ดีไหมคะ ยังอยากอ่านไหมคะ หรือว่าเบื่อกันแล้ววว >>>>><<<<<<