Tuesday, October 26, 2010

สิ่งโดนใจจากงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ (2)

อนาคตประเทศไทย
จะผ่าทางตันออกไปอย่างไร...ศึกษาจากนโยบายของจีน...แนวนโยบายของจีนมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
ลักษณะร่วมในสามฉากอนาคต
ในการปาฐกถางานเปิดตัวหนังสือที่ชื่อว่า หยั่งรู้อนาคต หลักการ ทฤษฎีและเทคนิคอนาคตศึกษาเมื่อวันที่ 24 .. 2553 อนุช อาภาภิรม หลังจากกล่าวถึงฉากอนาคตที่มีความเป็นไปได้ 3 ฉาก (ดูบล็อกก่อนหน้านี้) แล้ว ได้ชี้ว่า ในทั้ง 3 ฉากที่กล่าวมานั้น มีลักษณะร่วมอยู่ 3-4 ประการ ที่ไม่ว่าอนาคตไทยจะเป็นแบบใดคือไม่ว่าจะเป็นแบบ ไทยเข้มแข็งหรือ คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ รัฐที่ล้มเหลวและถูกละทิ้งก็จะมีลักษณะร่วมกันคือ...
(1) ศูนย์กลางอำนาจจะอ่อนลง ซึ่งหมายถึงทั้งรัฐและกลไกการปกครองรัฐจะต้องอ่อนลง ในกรณีไทยเข้มแข็งนั้น ไม่ได้หมายความว่าศูนย์กลางอำนาจรัฐแข็งแบบเผด็จการฟาสซิสม์ แต่หมายถึงเข้มแข็งทั้งประเทศ เพราะอำนาจจากศูนย์กลางจะถูกกระจายลงไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
(2) ประเด็นความมั่นคงของรัฐจะทวีความสำคัญขึ้นเนื่องจากมีปัญหาการเมือง และทหารก็จะมีบทบาททางการเมืองโดดเด่นขึ้น
(3) ปัญหาเศรษฐกิจจะหนักหน่วงขึ้น เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ มีการขึ้นภาษีและอัตราดอกเบี้ย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในหมู่ประชาชนที่ขยายกว้างออก
(4) ความเคลื่อนไหวการเมืองจะมีการขับเคี่ยวกันรุนแรงขึ้น เช่น ในการเลือกตั้งจะเกิดจุดอับทางการเมือง ตกอยู่ในภาวะที่เครื่องมือที่เคยใช้ในการแก้ปัญหา เช่น การรัฐประหารหรือการเลือกตั้งก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ดังนั้น ไทยต้องผ่าทางตันนี้ออกไปให้ได้...


ไทยจะผ่าทางตันได้อย่างไร?
ผู้พูดได้เสนอแนวทางที่จะนำพาประเทศไทยออกไปจากจุดอับและทางตันที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเสนอให้ศึกษาแนวนโยบายของประเทศจีนและนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับประเทศเรา แม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกับประเทศจีน ทั้งลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของเราก็แตกต่าง แต่มีความเหมือนก็คือ ทั้งจีนและไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จีนได้ค้นคิดแนวทางนโยบายการพัฒนาของประเทศ จากจุดยืนของประเทศกำลังพัฒนา...ดังนั้นจึงน่าจะมีบทเรียนที่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันนำไปใช้ได้...
ดูว่าจีนคิดนโยบายอะไรออกมาใช้บ้าง เริ่มตั้งแต่...
(1) นโยบาย 4 ทันสมัยคือการเกษตร อุตสาหกรรม การทหาร และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
(2) การค้นคิดนโยบาย ประเทศเดียวสองระบบเพื่อรวมเอาฮ่องกงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยไม่ต้องไปเปลี่ยนระบบของฮ่องกงให้เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะฮ่องกงเป็นแบบทุนนิยมเต็มขั้น ผู้พูดยกตัวอย่างการจัดตั้งรัฐบาลของไทยว่าถ้าหากออกมาในลักษณะที่ทั้งคนกรุงเทพและต่างจังหวัดรับได้ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ในสังคมไทย
(3) นโยบายมุ่งสู่ตะวันตกนั่นคือการขยายเขตการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศลึกเข้ามาจากชายฝั่งตะวันออกมาสู่เขตที่ล้าหลังต่างๆ เช่นพื้นที่ในมณฑลเสฉวน เป็นต้น กรณีของไทยก็น่าจะปรับมาใช้ในลักษณะของการกระจายความเจริญออกไปรอบทิศทางจนทั่วทั้งประเทศ
(4) การเสนอคำขวัญ รุ่งเรืองอย่างสันติคือไม่ไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ไม่ทำสงครามต่อกรกับใคร
(5) เสนอคำขวัญทางสากลว่า โลกที่สอดประสาน (Harmonious World) นั่นคือ การเอื้อประโยชน์กันและกันอย่างทั่วถึง ให้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะจนหรือรวย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข พูดง่ายๆ ก็คือ สันติภาพ มั่งคั่งและยั่งยืน นั่นเอง
นี่ก็คือสิ่งที่ผู้พูดได้เสนอ โดยชี้ว่าน่าจะช่วยให้ประเทศไทยจะออกจะจุดอับทางตันในปัจจุบันได้

ท่านผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามก็ได้ว่า ทำไมต้องศึกษาจากแนวนโยบายของจีน?
น่าสนใจค่ะ ขอฝากให้เก็บไปช่วยกันคิดดูดีกว่านะคะ

ขอจบไว้เท่านี้ก่อนค่ะ กลัวคนอ่านจะเครียด...เครียดไหมคะ?
คิดเสียว่าเป็น Food for Thought ละกันนะคะ 
แล้วพบกันอีกค่ะ รักทุกท่านที่เข้ามาอ่าน (จะยิ่งรักมากหากท่านมีคอมเมนท์ :D)


Monday, October 25, 2010

สิ่งโดนใจจากงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่...


โดนใจจริงๆ กับคำถามที่ว่า...

(ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า) “ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือถูกละทิ้งอย่างโดดเดี่ยว ในโลกที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวาย และ จะทำอย่างไร ไทยจึงจะไม่ถูกละทิ้ง ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว?”
ประเด็นคำถามข้างต้น ตั้งขึ้นระหว่างการกล่าวปาฐกถานำในงาน เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ หยั่งรู้อนาคต: หลักการ ทฤษฎีและเทคนิคอนาคตศึกษา (ของ อนุช อาภาภิรม) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในตอนท้ายของการปาฐกถา ซึ่งผู้พูดกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับเทคนิคอนาคตศึกษาหนึ่ง ที่เรียกว่าเทคนิคฉากอนาคต (Scenario Technique) ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกใช้เพื่อการวางแผนงานโครงการสำหรับการนำองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีการสร้างฉากอนาคตอยู่ประมาณ 3 แบบ คือ ฉากแบบดีที่สุด ฉากแบบปานกลาง และฉากที่เลวร้ายที่สุด

ผู้พูดได้ทดลองสร้างฉากอนาคตของประเทศไทยในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้ามา 3 ฉาก คือ
(1) ฉากอนาคตแบบ “ไทยเข้มแข็ง” เป็นฉากมองในแง่ดีที่สุด ซึ่งผู้พูดได้ระบุว่าประเทศไทยนั้นมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้อีกมาก แต่การเมืองยังเป็นอุปสรรค หากจะดีขึ้นได้ ก็อาจจะต้องเกิดเหตุการณ์ปะทุรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะสามารถปรองดองกันได้ดั่งที่หลายฝ่ายอยากเห็น เนื่องจากเฉพาะหน้านี้มีให้เห็นแต่การตั้งป้อม จึงต้องปะทะกันก่อน แล้วหลังจากนั้นก็สามารถพัฒนาเป็นรัฐที่เข้มแข็งในภูมิภาคได้
(2) ฉากอนาคตแบบกลางๆ คือ “ไทยเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาการป่วยเรื้อรัง” เนื่องจากมีความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ตกไป ยื้อกันไปๆ มาๆ อย่างยืดเยื้อ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ เปรียบเสมือนคนป่วยเรื้อรัง ซึ่งก็จะทำให้ไทยกลายเป็นเขตแย่งชิงอำนาจระหว่าง สหรัฐ จีน อิสลาม และอาจจะรวมรัสเซียเข้ามาอีกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลร้ายนอกจากชาติเราแล้วยังส่งผลต่อไปทั่วทั้งภูมิภาคนี้ด้วย
(3) ฉากอนาคตที่เลวร้ายที่สุดคือ “ไทยกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว และถูกละทิ้ง” ผู้พูดได้ยกบรรทัดฐานที่จะวัดความล้มเหลวของรัฐ เช่น ไม่สามารถคุ้มกันความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินให้ประชาชนได้ เวลาเกิดภัยพิบัติก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ยกตัวอย่างกรณีเกิดพายุแคธรีน่าที่ประชาชนเดือดร้อนล้มตายมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนอเมริกันไม่ให้อภัย ปธน.บุช นับแต่นั้น ตัวชี้วัดของรัฐที่ล้มเหลวอีกตัวหนึ่งคือ ความล้มเหลวของระบบความยุติธรรม และความล้มเหลวของการให้บริการสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นตัวชี้ให้เห็นความเป็นรัฐที่ล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนดีที่มีความสามารถทิ้งประเทศไปตั้งรกรากทำมาหากินที่ประเทศเขตแคว้นอื่นๆ และบรรดาเศรษฐีมีเงินต่างพากันขนเงินทองออกนอกประเทศไป

ฉันว่า น่ากลัวทุกฉากเลย จะทำยังไงดี??
ผู้พูดได้กล่าวว่า โดยลักษณะที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น ประเทศไทยอยู่ตรงศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ไทยต้องทำตัวเป็นศูนย์กลาง หากไม่เช่นนั้นก็จะถูกโดดเดี่ยวและถูกละทิ้ง...

ทิ้งท้ายว่า ผู้พูดได้นำเสนอหนทางผ่าทางตันเอาไว้อย่างน่าสนใจค่ะ
โปรดรออ่านในบล็อกหน้านะคะ 

Saturday, August 21, 2010

น้ำตาแห่งมนุษย์...ก่อนกำเนิดความเมตตาที่ไม่ยั่งยืน





วันนี้...ตอนนี้...น้ำตาฉันไหล...
เมื่อมีเวลามานั่งคิดทบทวน มันเกิดเศร้าใจ กับความไร้สาระของชีวิต  แต่ทำไมชีวิตที่ไร้สาระจึงสร้างความวุ่นวายให้กับเราได้มากมายถึงเพียงนี้? และมันทำให้เราโกรธ โมโหหัวเสียเป็นส่วนใหญ่ จริงนะ...

ฉันพยายามบอกกับตัวเองว่า ชีวิตมันไร้สาระ การเกิดคือความทุกข์ จงรู้เท่าทัน และจัดการมันให้เดินไปตามขั้นตอนให้ดีที่สุด... แต่การจัดการให้ดีที่สุด นี่แหละคือความทุกข์นะ...
เอาละ ถ้างั้น หากจะให้มันทุกข์น้อยก็คือ ไม่ต้องให้ดีที่สุด ให้ดีพอสมควร หรือที่เรียกกันว่า ทางสายกลางไง

Twilight of the meridian
สนธยายามเที่ยงวัน
ทางสายกลาง? ทางสายกลางคืออะไร? ฉันได้คิด คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก...มากยิ่งนักถึงมากที่สุดเลย...

ถ้าหากทางสายกลางคือการทำทุกอย่างเฉพาะหน้าให้เกิดภาวะสมดุล ในสภาพจริงก็คือ เมื่อทุกอย่างหรือหลายอย่างหลายปัจจัย อยู่ในภาวะสมดุลแล้วเท่านั้น เราจึงจะสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้...
ถ้าหากทางสายกลางคือสิ่งนี้ ในโลกที่เป็นจริง เราก็สามารถนำมันมาใช้กับชีวิตได้...
ทางสายกลาง - ภาวะสมดุลในชีวิต...ในช่วงจังหวะที่อาจแสนสั้นแต่มั่นคงพอที่เราจะก้าวต่อไปได้...
แต่ก็อย่าคิดว่า ภาวะสมดุลที่เราจัดได้มันจะอยู่เช่นนั้นเป็นนิรันดร์ หากเราต้องก้าวเดินไปข้างหน้าอีกก้าวและอีก...

จริงสินะ... เมื่อเราก้าวต่อไปอีกก้าว ชีวิตคืบหน้าต่อไปอีก (ซึ่งมันจะต้องคืบต่อไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรมายับยั้งมันไว้ได้ ทุกอย่างไม่สามารถหยุดอยู่กับที่) เราก็จะต้องพบอุปสรรค ต้องฝ่าฟันไปอีก
เมื่อชีวิตต้องคืบหน้าต่อไป ทางเบื้องหน้าของเราก็อย่าหวังเลยว่าจะราบเรียบ อย่าหวังว่าจะไม่เจอกับความทุกข์ยากลำบาก และความคับข้องใจอีก คิดไว้เลยว่าเราต้องเจอ และมันอาจจะแรงกว่าที่เคยเจอมาแล้วก็เป็นได้...

นี่ก็หมายความว่า สิ่งที่เราควรทำในชีวิตก็คือพยายามสร้างภาวะสมดุลให้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนที่ชีวิตดำเนินไป
แค่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ การเดินสายกลาง... มันต้องการองค์ประกอบที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งงานหนักแบบจับกังรวมกัน ใครทำตรงนี้ได้ดี ก็ถือว่าเจนจบในมหาวิทยาลัยชีวิตไปขั้นหนึ่ง...
และรู้ไหม... บางทีมันต้องแลกมาด้วยน้ำตา การยอมเสีย การยอมเสี่ยง การยอมผ่อนสั้นผ่อนยาว กระทั่งต้องสละสิ่งที่รักที่หวงแหน โดยไม่มีใครรู้ใครเห็น ไม่มีกล่องมาประดับดวงใจ ไม่มีแก้วแหวนเงินทองมาประดับกาย...

หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะมีสิ่งใดยึดเหนี่ยว เพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างมีแรงพลัง?
บอกตัวเองว่า จงเอาความเมตตาเข้ามาแทนที่ความคับข้องขุ่นใจ เพราะเบื้องหน้าของเราคือชีวิตที่เป็นทุกข์ ชีวิตที่ต้องการความรักความเมตตาความสงสาร ชีวิตที่กำลังดิ้นรน...อยากจะโกรธก็โกรธเถิด เพราะมันคืออารมณ์แห่งมนุษย์ หากอยากจะร้องไห้ ก็จงร้องเถิด เพราะนั่นคือน้ำตาแห่งมนุษย์ ที่เราหลั่งจากใจของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง หลั่งให้แก่ผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเดินทางกันไปจนกว่าจะสุดปลายทางของแต่ละคน...

...แต่...จงอย่าลืมมีความเมตตาหล่อเลี้ยงอยู่ในใจไว้เสมอละกัน...จงจุดไฟแห่งความเมตตาให้สว่างที่สุดในยามที่มืดที่สุดเสมอนะ...เพราะความเมตตานั้นก็ไม่ยั่งยืน เฉกเช่นเดียวกับสิ่งดีๆ ทั้งปวง...อย่าเศร้าให้มากนักเลย


Saturday, July 24, 2010

มาคุยเรื่อง "สัจจธรรม" (Truth ภาคภาษาไทย) กันค่ะ


Truth สัจจธรรม
ในภาษาไทยจะมีคำว่า สัจจธรรม หรือ ความเป็นจริง กับ คำว่า ข้อเท็จจริง เหมือนกับในภาษาอังกฤษ ที่มีคำว่า Truth และ Fact ซึ่งมักจะถูกใช้ในความหมายที่ปะปนกัน (แต่ดูเหมือนภาษาไทยจะมองเห็นความแตกต่างชัดกว่าหน่อยนึงนะคะ)

ที่จริงไม่อยากจะมาชวนท่านคุยเรื่องที่ฟังน่าเบื่อและน่าหิวน้ำตาลแบบนี้
แต่ว่า ไม่นานมานี้ เมื่อได้ยินว่าได้มีคนคณะใหญ่ (ซึ่งโดยทั่วไป ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักพอสมควร) เที่ยวแสวงหาความจริง เพื่อเอามาใช้ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก็ทำให้เกิดความใคร่รู้ อยากจะค้นหาว่า ที่ว่า ความจริงนั้น คืออะไรกันแน่

จริงแล้วพอได้ยินครั้งแรกๆ ว่าจะตรวจสอบค้นหาความจริง ไม่ทราบทำไมรู้สึกเหมือนกำลังจะได้ชื่นชมผลงานของ ผู้แสวงหาสัจจะ เพราะเนื่องจากมาใช้คำว่า “ความจริง” แทนจะใช้คำว่า “ข้อเท็จจริง” เพราะคำว่า สัจจธรรมหรือความเป็นจริงนั้น ตามความหมายก็คือ สิ่งเป็นจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ความจริงสูงสุด ไม่มีอะไรจะจริงไปกว่านี้อีกแล้ว หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีใครสามารถนำหลักฐาน ข้อพิสูจน์อื่นๆ มาหักล้างได้ หากจะเทียบเคียงก็เหมือนกับ สัจจธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีที่สำคัญ 4 ประการคือ สรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกล้วนเป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นทุกข์ สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตา และนิพพานคือความสงบอย่างยิ่ง ประเภทแบบนี้…

อันนี้เห็นชัดค่ะว่าเป็น สัจจธรรม หรือความเป็นจริง หรือบางแห่งเรียก “สัจพจน์” พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ในคำๆ นี้ รวมทั้งตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ท่านรู้สึกไหมว่า มันเป็นเรื่องที่ครอบจักรวาล เหมือนของดิ้นได้ไหลไปได้ตลอดเวลา เหมือนน้ำ มองได้หลากหลายแง่มุม และมองเห็นเป็นภาพมีรายละเอียดมากมายอย่างไม่รู้จบ จะสามารถถกเถียงกันได้อย่างไม่รู้จบ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังทรงสั่งสอนสานุศิษย์ว่า อย่าเชื่อสิ่งที่อาตมาบอก ให้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากใช้แนวนี้ความเป็นจริงของฉันกับของเธออาจจะต่างกันก็ได้ แบบคนละเรื่องเดียวกัน เพราะมันเป็นเรื่องความเชื่อแบบอัตตวิสัย (Subjectivism)

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมหรือความเป็นจริงดังกล่าว จึงมิได้เป็นสิ่งที่ใครก็ได้จะกล่าวอ้างเอามาใช้ได้ง่ายๆ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์พระองค์เองมาสองพันห้าร้อยห้าสิบกว่าปีแล้ว
แล้วในชั่วเพียงข้ามคืนไม่นาน ใครจะมาอ้างว่าสิ่งที่ตนเองพบเป็นความจริงได้ง่ายๆ หรือ? อาจต้องเจอข้อโต้แย้งมากมาย อย่างไม่รู้จบก็ได้ ใครจะการันตี

ในเมื่อเป็นแบบนี้ เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจึงอาจคาดทายได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความปรองดอง ที่จะอ้างอิงจากการค้นหาความเป็นจริงครั้งนี้ อาจกลายเป็นกระบวนการยืดเยื้อที่ไม่รู้จบ และไม่สามารถจะเข้าใกล้ความปรองดอง หากในทางตรงกันข้าม อาจขยายรอยแตกแยกให้กว้างกว่าเดิม ก้เป็นได้นะ…

ทางที่ดีแล้ว… อย่าแสวงหาความเป็นจริงแบบนี้เลยดีกว่า เพราะความเป็นจริงในแนวดังที่กล่าวมา มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นศรัทธา เรื่องทางศาสนา ความเชื่อเป็นสำคัญ ซึ่งแม้กระนั้นยังมีคำพูดที่น่าเสียวสยองให้ได้ยินบ่อยๆ ที่ว่า “อมพระมาพูดก็ยังไม่เชื่อ” น่าห่วงนะ…

ยุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล และเป็นสังคมความรู้ (Knowledge – based Society) ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่นิ่ง มีการเรียนรู้ตลอดปรับเปลี่ยนตลอด ความเจริญก้าวหน้าจึงเป็นไปรวดเร็ว กว่าคนรุ่นก่อนๆ เราจะคาดคิดได้
คนรุ่นนี้สามารถคิดได้รวดเร็ว และรอบด้านมากขึ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากมีฐานข้อมูลความรู้ให้ติดตามค้นคว้าเอามาปรับใช้ได้มากมาย และมีระเบียบวิธีการทำงานที่ทันสมัย เช่น มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยด้วย เรียกได้ว่า ผลงานที่ออกมา เกือบเทียบเท่ากับการทำวิจัย ที่ในสมัยก่อนต้องใช้เงินทอง ลงแรงเสียเวลามากกว่านี้มาก

โปรดช่วยเรียกชื่อตนเองว่า คณะตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริง (Facts finder / investigator) ดีกว่าค่ะ ทำให้มันเป็นภววิสัย (Objectivism) และก็วางกรอบแนวคิดไว้ให้ชัดเจนอย่างเปิดเผยว่า จะต้องการหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดประเด็นใด ในกรอบระยะเวลาจากไหนถึงไหน ใช้ระเบียบวิธีการแบบไหน ใช้เครื่องมือการรวบรวมข้อมูลอะไรบ้าง และมีแนวทางในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลอย่างไร แบบนี้ดีกว่า เสร็จแล้วนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ให้สาธารณชนได้รับรู้และควรปล่อยให้สาธารณชน ได้ใช้สมองตัวเองพิจารณาและตัดสินว่า เค้าจะเชื่อถือหรือไม่
แบบนี้น่าจะพอมีหวังสร้างความปรองดองขึ้นมาได้บ้าง…

ได้บ้างไหมหนอ? 

Saturday, July 10, 2010

Let's Talk About "Truth"

This Article dedicates specially to someone who dares to stand for finding Truth.

Somebody might confuse or mix up Truth with Fact; the two words are different.

In my opinion, Fact is thing or situation occurs at specific time and place, no one can change or deny it. Fact is something objective it occurs outside anyone's mind or wishes. Fact exists by itself, verifies itself by some explorers or fact finders, etc..

While Truth is thing or situation occurs at unknown time and space, seems unable to neither specify nor verify because Truth seems to be thing subjective and abstract, mostly relevant to religious settings in such a way as often depend on personal belief or faith. Lot of World's sages have been trying very hard to seek for Truth or even gone way up to Ultimate Truth; it's up to whom you believe in their findings.

I myself believe in the findings or teachings of Buddha like the one which said everything in this world is transient or changing all the time, the only eternal thing is Change. So Change itself is Truth and Ultimate Truth is the Unknown, because the moment we claim that we know what it is, it changes to something else. Fortunately, this Buddhist teaching may be consistent with some latest scientific findings... interesting!

Therefore, if there's anyone who dares to stand up for finding truth, that person should accept the very fact that there would be only some limited amount of people who will believe in the truth you claim to be found. Except that you are someone whose finding has been proven times and again for such a long time as more that 2550 years like Buddha... that what you said about truth is believable.

However, we have the way out for this, by just putting a frame around what we want to find, make it objective, call it Fact which we can verify within specific times & places, and after you found it, humbly propose it to the public and let them judge by themselves whether to accept or deny it.

This will be a more easy way, won't it? Thank gods that we still have alternatives, which make it possible for us to solve our problems.

That's all my opinion about Truth; What's yours?

Sunday, May 23, 2010

จิตสาธารณะของคนไทยมีไหม? (Any public mindedness exists somewhere here?)

ขยับจะเขียนถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ก็รามือยอมแพ้ไปทุกครั้ง เพราะพบว่ากำลังจะพูดถึงเรื่องที่ “ยากแท้หยั่งถึง” ดังที่ท่านสุนทรภู่เขียนไว้ว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง…”
แต่เรื่องนี้ก็ยังวนเวียน และโบยตีจิตใจฉันอยู่ตลอดเวลา…
จะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่นึกถึงคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “คนไทยไม่มีจิตสาธารณะ” “คนไทยคิดแต่จะเอาเข้าตัวเอง แต่ไม่เคยคิดจะให้อะไรแก่ส่วนรวม” “คนไทยเอาแต่ได้ เห็นแก่ตัว”
...
ฉันรู้สึกเหน็บหนาว และสิ้นหวัง พยายามจะแสวงหาแบบอย่างพฤติกรรมอันควรเชิดชู ที่จะมาหักล้างคำกล่าวหาเหล่านั้นอย่างยากเย็น…
...
…ทำไมเราจึงไม่มีบุคคลตัวอย่างคนหนึ่งคนใดหลงเหลืออยู่ในความทรงจำบ้างเลย ทำไมเราไม่มีคนอย่างโรบินฮู๊ด หรือซอร์โร ที่สถิตอยู่ ณ กลางใจผู้คนเสมอมา ฯลฯ
ทำไมเราไม่เคยมีวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่เปล่งประกายแสงรุ่งโรจน์อยู่ในใจ และสามารถกลายเป็นแสงสว่างนำทางให้เราเดินไปบนเส้นทางแห่งความรุ่งโรจน์อย่างนั้นบ้าง?
มีอยู่บ้าง… แต่ก็รางเลือนเหลือเกิน… ทำไมวีรกรรมอย่างของชาวบ้านบางระจัน ที่รวมตัวกันลุกขึ้นต่อสู้กับพม่าข้าศึกเพื่อปกป้องมาตุภูมิ ถิ่นที่ทำกินของตนอย่างห้าวหาญ จึงปรากฏอย่างรางเลือนในความทรงจำของเรานัก? ทำไมวีรกรรมอย่างของท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร หรือกระทั่งท้าวสุรนารี ฯลฯ จึงปรากฏภาพอย่างรางเลือนในความทรงจำของเรานัก?
ทำไม?
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติไทยนี้ ไม่มีวีรกรรมของวีรชนที่ควรเชิดชู เกิดขึ้นมาบ้างเลยหรือ?
หรือว่า สังคมประเทศนี้ไม่เคยยกย่องส่งเสริมวีรกรรมและวีรชน ที่เสียสละตนเองอย่างกล้าหาญ ให้โดดเด่นขึ้นมา เพื่อเป็นแบบอย่างอันน่าภาคภูมิ และปลูกฝังอยู่ในใจของชนรุ่นหลัง ให้เป็นประดุจโคมส่องนำทางแก่พวกเขา? หรือว่าสังคมประเทศนี้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้น้อยเกินไป จำกัดเกินไป?
ไม่รู้กันบ้างเลยหรือว่านั่นคือที่มาอันสำคัญหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “จิตสาธารณะ” ที่ถูกถามหา?

หรือว่าสังคมนี้มีแต่กระบวนการส่งเสริมยกย่องแบบอื่น เช่น การอุทิศหรือเสียสละตนเองเพื่อบุคคล หรือเทพเจ้าที่มองไม่เห็น เพื่อเป็นทางสู่สรวงสวรรค์ส่วนตัวของแต่ละคน? การตัดช่องน้อยแต่พอตัว การรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี การยักย้ายถ่ายเท เล่นเล่ห์เพทุบาย เก่งเฉพาะตน การสะสมอำนาจเพื่อข่มขู่และข่มเหงคนอื่น ฯลฯ
ไม่รู้กันเลยหรือว่านั่นคือที่มาอันสำคัญหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “จิตทาสที่ปล่อยไม่ไป” และหายนะขององคาพยพทั้งมวล?

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือประวัติแห่งการอยู่ร่วมกัน และการทำลายล้างกัน เพื่อช่วงชิงแหล่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำรงอยู่อย่างดีที่สุดของตน
แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนเราว่า ชาติใดที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีจิตสาธารณะ ยิ่งมากก็จะยิ่งใหญ่รุ่งเรือง ในทางตรงข้าม ชาติใดส่งเสริมจิตทาสที่ปล่อยไม่ไป ก็จะเดินสู่หนทางหายนะ และล่มสลายในที่สุด…
จิตสาธารณะ (ที่แท้จริง) จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาเองหรือส่งลงมาจากฟ้า หากแต่จะเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางการต่อสู้เพื่ออิสระเสรีภาพและอธิปไตยของมนุษย์เองเท่านั้น…

จิตสาธารณะจะไม่มีวันครองใจผู้ที่ไม่เคยต่อสู้

Monday, March 1, 2010

อย่าแยกอิทธิพลธรรมชาติภายในและภายนอกตัวเราออกจากกัน

(ตอนที่ว่าด้วย "ความมหัศจรรย์ของสิ่งที่อยู่ใต้กะโหลกศีรษะมนุษย์")

เค้าเลิกเถียงกันในประเด็นเรื่อง “อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ระหว่าง Nature กับ Nurture” แล้ว

ยุคนี้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปมากและรวดเร็วจริงๆ จนกระทั่งสิ่งที่เคยเป็นปัญหาที่ยังหาข้อสรุป ไม่ได้ และก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากมายเพื่อแสวงหาทางออก หรือคำตอบที่พึงพอใจ ก็กลับแก้ตกไป ซะเฉยๆ โดยเกือบไม่ทันรู้ตัวเลยก็มีค่ะ

อย่างเช่นปัญหาว่า พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์เป็นผลผลิตของธรรมชาติ (คือสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด ที่เรียกว่า Nature) หรือ มาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมา (การอบรมเลี้ยงดูและเงื่อนไข สภาพความเป็นอยู่ หรือที่เรียกกันว่า Nurture) บางคนก็บอกว่าสิ่งที่ติดตัวมาเป็นตัวชี้ขาด คนที่เก่งเพราะสมองดี บ้างก็ว่าได้มาด้วยความสามารถตัวเองแท้ๆ แต่บ้างก็ว่าเป็นเพราะพ่อแม่อบรมเลี้ยงดูมาดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อะไรก็ว่ากันไป…

เถียงกันแทบตาย ลงทุนลงแรงศึกษาค้นคว้ากันอย่างเอาจริงเอาจัง…

สุดท้าย ก็ดูเหมือนจะมาสรุปว่า ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เพราะต่างก็มีความสำคัญมากพอๆ กัน ไม่สามารถที่จะระบุออกมาชัดๆ ว่าตัวไหนมีบทบาทมากกว่าอีกตัวหนึ่ง…

แต่ที่เด็ดขาดมาก ก็คือ การเปิดเผยผลการศึกษาการทำงานของสมองของคน ที่ถึงแม้จนถึงปัจจุบัน ยังมีรายละเอียดที่ให้ศึกษาอีกมากมาย สลับซับซ้อนมาก แต่เท่าที่ศึกษาได้ผล และนำมาเปิดเผยออกมาแล้ว ก็ช่วยได้มาก มันทำให้เรา เข้าใจกระจ่างชัดขึ้นเกี่ยวกับกลไกมหัศจรรย์ที่อยู่ในหัวกะโหลกมนุษย์ที่เดินกัน ขวักไขว่ไปมาอยู่ทั่วโลก เป็นจำนวนถึงเกือบ 7 พันล้านคนในปัจจุบันนี้นั่นเอง

ความรู้เรื่องการทำงานของสมอง ทำให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ได้มากขึ้น

ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองส่วนต่างๆ ทำให้เราเข้าใจภาพกว้างๆ กลไกที่ซับซ้อนนี้ เช่น ทำให้เรารู้ว่า เรามีส่วนของสมองที่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน คือก้านสมอง (Brain Stem) ที่ทำหน้าที่รับถ่ายข้อมูล จากประสาทสัมผัสต่างๆ และควบคุมดูแลสิ่งพื้นฐานเช่น การหายใจ และจังหวะเต้นของหัวใจ เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งที่อยู่หลังก้านสมองคือ ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นส่วนที่ช่วยประสานการทำงาน ของกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว และมีความจำในเรื่องการเคลื่อนไหว พวกนักกีฬา และนักเต้นรำที่เก่งๆ จะมี ซีรีเบลลัมที่พัฒนาอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีส่วนของสมองที่พัฒนาขึ้นมาภายหลังในช่วงประมาณ 80 ล้านปี (จากช่วงการพัฒนาของสมองมนุษย์ทั้งหมด 280 ล้านปี) มานี้ นั่นคือสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammalian Brain) ค่ะ

สมองส่วนนี้ละค่ะ จะบอกว่าเราคือคน เป็นส่วนที่ใหญ่สุด กินเนื้อที่คิดเป็นร้อยละ 80 ของก้อนเนื้อสมองทั้งก้อน มันอยู่บนหัวกะโหลกของเรา เรียกว่า ซีรีบรัม (Cerebrum) รูปร่างเหมือน ถั่ววอลนัทผ่าครึ่งสองซีกมาประกบกัน รับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ การคิด การรู้สึก การจำ และการนำไปสู่ การเรียนรู้และพฤติกรรมต่างๆ ของคนเรา…

เช่น สมองส่วนที่อยู่ส่วนหน้าที่เราชอบเอามือกุมมันเวลาคิดอะไรไม่ออกนั่นน่ะ มันทำหน้าที่เกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหานามธรรม เรียกว่า Frontal Lobe ส่วนทางด้านข้างๆตรงขมับค่อนมาทางหลังใบหู ที่เราชอบเอามือ ไปบีบ ไปนวด ทาแป๊ะฮวยอิ้วให้เสมอๆ นั่นก็คือสมองส่วนข้างที่เรียกว่า Temporal Lobe ทำหน้าที่ควบคุมความจำ การได้ยินและภาษา สมองส่วนที่พาดกลางกะโหลก (แนวซ้าย/ขวา) ของเราที่มีชื่อเรียกว่า Parietal Lobe ทำหน้าที่รับส่ง กระบวนการสื่อสารจากประสาทสัมผัสต่างๆ ส่วนสมองส่วนด้านหลังท้ายทอย วางอยู่เหนือ ซีรีเบลลัม เลย นั่นก็คือ Occipital Lobe ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็นค่ะ
แต่สมองทุกส่วนที่ว่ามานั้น ทำงานประสานพร้อมๆ กันไปอย่างสลับซับซ้อนมาก

เรื่องของสมองที่กล่าวมานี้ นี่ยังไม่หมดนะคะ แค่น้ำจิ้มเท่านั้น

ภายในสมองยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง และ ซีรีบรัมนี้ ยังมีการแบ่งเป็นซีกซ้ายซีกขวา ที่มีการกล่าวถึงกันมาก เช่นซีรีบรัมซีกซ้ายจะเน้นการทำงานด้านใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ ภาษา และการจำแนกและลำดับเวลา ส่วนซีรีบรัมซีกขวา เน้นด้านการคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ดนตรี การจดจำใบหน้าของคน เป็นต้น แต่ทั้งสองซีกเวลาทำงาน ต้องทำไปพร้อมกันจะขาดกันและกันไม่ได้

สรุปสมองทั้งก้อน แม้ว่าจะมีหน้าที่ต่างๆ กัน หากเรามีแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เดี้ยงค่ะ ทำไรไม่ได้

แบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจนะคะ หากจะมีผู้พบว่า พวกนักดนตรีอมตนิรันดร์กาลอย่างพวกโมซาร์ต เบโธเฟน ฯลฯ จะมีสมองด้านข้างใหญ่พิเศษ โดยเฉพาะข้างขวา…

โอ๊ะ ยาวเกินไปแล้ว เดี๋ยวคนอ่านเมื่อยตา เมื่อยสมอง กุมหน้าผากหรือยังคะ ก็มันนามธรรมจังเลยอ่ะสิ
ขอไปก่อน หากไม่เกินสามารถจะเอารูปประกอบใส่มาด้วยนะคะ (ท่านที่สนใจคลิกไปชมภาพสมองที่บล็อก Momypedia โดยคลิกลิงค์ด้านซ้ายบนนี้นะคะ)

บาย บาย สวัสดีค่ะ