Monday, March 1, 2010

อย่าแยกอิทธิพลธรรมชาติภายในและภายนอกตัวเราออกจากกัน

(ตอนที่ว่าด้วย "ความมหัศจรรย์ของสิ่งที่อยู่ใต้กะโหลกศีรษะมนุษย์")

เค้าเลิกเถียงกันในประเด็นเรื่อง “อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ระหว่าง Nature กับ Nurture” แล้ว

ยุคนี้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปมากและรวดเร็วจริงๆ จนกระทั่งสิ่งที่เคยเป็นปัญหาที่ยังหาข้อสรุป ไม่ได้ และก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากมายเพื่อแสวงหาทางออก หรือคำตอบที่พึงพอใจ ก็กลับแก้ตกไป ซะเฉยๆ โดยเกือบไม่ทันรู้ตัวเลยก็มีค่ะ

อย่างเช่นปัญหาว่า พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์เป็นผลผลิตของธรรมชาติ (คือสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด ที่เรียกว่า Nature) หรือ มาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมา (การอบรมเลี้ยงดูและเงื่อนไข สภาพความเป็นอยู่ หรือที่เรียกกันว่า Nurture) บางคนก็บอกว่าสิ่งที่ติดตัวมาเป็นตัวชี้ขาด คนที่เก่งเพราะสมองดี บ้างก็ว่าได้มาด้วยความสามารถตัวเองแท้ๆ แต่บ้างก็ว่าเป็นเพราะพ่อแม่อบรมเลี้ยงดูมาดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อะไรก็ว่ากันไป…

เถียงกันแทบตาย ลงทุนลงแรงศึกษาค้นคว้ากันอย่างเอาจริงเอาจัง…

สุดท้าย ก็ดูเหมือนจะมาสรุปว่า ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เพราะต่างก็มีความสำคัญมากพอๆ กัน ไม่สามารถที่จะระบุออกมาชัดๆ ว่าตัวไหนมีบทบาทมากกว่าอีกตัวหนึ่ง…

แต่ที่เด็ดขาดมาก ก็คือ การเปิดเผยผลการศึกษาการทำงานของสมองของคน ที่ถึงแม้จนถึงปัจจุบัน ยังมีรายละเอียดที่ให้ศึกษาอีกมากมาย สลับซับซ้อนมาก แต่เท่าที่ศึกษาได้ผล และนำมาเปิดเผยออกมาแล้ว ก็ช่วยได้มาก มันทำให้เรา เข้าใจกระจ่างชัดขึ้นเกี่ยวกับกลไกมหัศจรรย์ที่อยู่ในหัวกะโหลกมนุษย์ที่เดินกัน ขวักไขว่ไปมาอยู่ทั่วโลก เป็นจำนวนถึงเกือบ 7 พันล้านคนในปัจจุบันนี้นั่นเอง

ความรู้เรื่องการทำงานของสมอง ทำให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ได้มากขึ้น

ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองส่วนต่างๆ ทำให้เราเข้าใจภาพกว้างๆ กลไกที่ซับซ้อนนี้ เช่น ทำให้เรารู้ว่า เรามีส่วนของสมองที่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน คือก้านสมอง (Brain Stem) ที่ทำหน้าที่รับถ่ายข้อมูล จากประสาทสัมผัสต่างๆ และควบคุมดูแลสิ่งพื้นฐานเช่น การหายใจ และจังหวะเต้นของหัวใจ เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งที่อยู่หลังก้านสมองคือ ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นส่วนที่ช่วยประสานการทำงาน ของกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว และมีความจำในเรื่องการเคลื่อนไหว พวกนักกีฬา และนักเต้นรำที่เก่งๆ จะมี ซีรีเบลลัมที่พัฒนาอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีส่วนของสมองที่พัฒนาขึ้นมาภายหลังในช่วงประมาณ 80 ล้านปี (จากช่วงการพัฒนาของสมองมนุษย์ทั้งหมด 280 ล้านปี) มานี้ นั่นคือสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammalian Brain) ค่ะ

สมองส่วนนี้ละค่ะ จะบอกว่าเราคือคน เป็นส่วนที่ใหญ่สุด กินเนื้อที่คิดเป็นร้อยละ 80 ของก้อนเนื้อสมองทั้งก้อน มันอยู่บนหัวกะโหลกของเรา เรียกว่า ซีรีบรัม (Cerebrum) รูปร่างเหมือน ถั่ววอลนัทผ่าครึ่งสองซีกมาประกบกัน รับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ การคิด การรู้สึก การจำ และการนำไปสู่ การเรียนรู้และพฤติกรรมต่างๆ ของคนเรา…

เช่น สมองส่วนที่อยู่ส่วนหน้าที่เราชอบเอามือกุมมันเวลาคิดอะไรไม่ออกนั่นน่ะ มันทำหน้าที่เกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหานามธรรม เรียกว่า Frontal Lobe ส่วนทางด้านข้างๆตรงขมับค่อนมาทางหลังใบหู ที่เราชอบเอามือ ไปบีบ ไปนวด ทาแป๊ะฮวยอิ้วให้เสมอๆ นั่นก็คือสมองส่วนข้างที่เรียกว่า Temporal Lobe ทำหน้าที่ควบคุมความจำ การได้ยินและภาษา สมองส่วนที่พาดกลางกะโหลก (แนวซ้าย/ขวา) ของเราที่มีชื่อเรียกว่า Parietal Lobe ทำหน้าที่รับส่ง กระบวนการสื่อสารจากประสาทสัมผัสต่างๆ ส่วนสมองส่วนด้านหลังท้ายทอย วางอยู่เหนือ ซีรีเบลลัม เลย นั่นก็คือ Occipital Lobe ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็นค่ะ
แต่สมองทุกส่วนที่ว่ามานั้น ทำงานประสานพร้อมๆ กันไปอย่างสลับซับซ้อนมาก

เรื่องของสมองที่กล่าวมานี้ นี่ยังไม่หมดนะคะ แค่น้ำจิ้มเท่านั้น

ภายในสมองยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง และ ซีรีบรัมนี้ ยังมีการแบ่งเป็นซีกซ้ายซีกขวา ที่มีการกล่าวถึงกันมาก เช่นซีรีบรัมซีกซ้ายจะเน้นการทำงานด้านใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ ภาษา และการจำแนกและลำดับเวลา ส่วนซีรีบรัมซีกขวา เน้นด้านการคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ดนตรี การจดจำใบหน้าของคน เป็นต้น แต่ทั้งสองซีกเวลาทำงาน ต้องทำไปพร้อมกันจะขาดกันและกันไม่ได้

สรุปสมองทั้งก้อน แม้ว่าจะมีหน้าที่ต่างๆ กัน หากเรามีแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เดี้ยงค่ะ ทำไรไม่ได้

แบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจนะคะ หากจะมีผู้พบว่า พวกนักดนตรีอมตนิรันดร์กาลอย่างพวกโมซาร์ต เบโธเฟน ฯลฯ จะมีสมองด้านข้างใหญ่พิเศษ โดยเฉพาะข้างขวา…

โอ๊ะ ยาวเกินไปแล้ว เดี๋ยวคนอ่านเมื่อยตา เมื่อยสมอง กุมหน้าผากหรือยังคะ ก็มันนามธรรมจังเลยอ่ะสิ
ขอไปก่อน หากไม่เกินสามารถจะเอารูปประกอบใส่มาด้วยนะคะ (ท่านที่สนใจคลิกไปชมภาพสมองที่บล็อก Momypedia โดยคลิกลิงค์ด้านซ้ายบนนี้นะคะ)

บาย บาย สวัสดีค่ะ