Tuesday, October 26, 2010

สิ่งโดนใจจากงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ (2)

อนาคตประเทศไทย
จะผ่าทางตันออกไปอย่างไร...ศึกษาจากนโยบายของจีน...แนวนโยบายของจีนมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
ลักษณะร่วมในสามฉากอนาคต
ในการปาฐกถางานเปิดตัวหนังสือที่ชื่อว่า หยั่งรู้อนาคต หลักการ ทฤษฎีและเทคนิคอนาคตศึกษาเมื่อวันที่ 24 .. 2553 อนุช อาภาภิรม หลังจากกล่าวถึงฉากอนาคตที่มีความเป็นไปได้ 3 ฉาก (ดูบล็อกก่อนหน้านี้) แล้ว ได้ชี้ว่า ในทั้ง 3 ฉากที่กล่าวมานั้น มีลักษณะร่วมอยู่ 3-4 ประการ ที่ไม่ว่าอนาคตไทยจะเป็นแบบใดคือไม่ว่าจะเป็นแบบ ไทยเข้มแข็งหรือ คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ รัฐที่ล้มเหลวและถูกละทิ้งก็จะมีลักษณะร่วมกันคือ...
(1) ศูนย์กลางอำนาจจะอ่อนลง ซึ่งหมายถึงทั้งรัฐและกลไกการปกครองรัฐจะต้องอ่อนลง ในกรณีไทยเข้มแข็งนั้น ไม่ได้หมายความว่าศูนย์กลางอำนาจรัฐแข็งแบบเผด็จการฟาสซิสม์ แต่หมายถึงเข้มแข็งทั้งประเทศ เพราะอำนาจจากศูนย์กลางจะถูกกระจายลงไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
(2) ประเด็นความมั่นคงของรัฐจะทวีความสำคัญขึ้นเนื่องจากมีปัญหาการเมือง และทหารก็จะมีบทบาททางการเมืองโดดเด่นขึ้น
(3) ปัญหาเศรษฐกิจจะหนักหน่วงขึ้น เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ มีการขึ้นภาษีและอัตราดอกเบี้ย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในหมู่ประชาชนที่ขยายกว้างออก
(4) ความเคลื่อนไหวการเมืองจะมีการขับเคี่ยวกันรุนแรงขึ้น เช่น ในการเลือกตั้งจะเกิดจุดอับทางการเมือง ตกอยู่ในภาวะที่เครื่องมือที่เคยใช้ในการแก้ปัญหา เช่น การรัฐประหารหรือการเลือกตั้งก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ดังนั้น ไทยต้องผ่าทางตันนี้ออกไปให้ได้...


ไทยจะผ่าทางตันได้อย่างไร?
ผู้พูดได้เสนอแนวทางที่จะนำพาประเทศไทยออกไปจากจุดอับและทางตันที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเสนอให้ศึกษาแนวนโยบายของประเทศจีนและนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับประเทศเรา แม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกับประเทศจีน ทั้งลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของเราก็แตกต่าง แต่มีความเหมือนก็คือ ทั้งจีนและไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จีนได้ค้นคิดแนวทางนโยบายการพัฒนาของประเทศ จากจุดยืนของประเทศกำลังพัฒนา...ดังนั้นจึงน่าจะมีบทเรียนที่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันนำไปใช้ได้...
ดูว่าจีนคิดนโยบายอะไรออกมาใช้บ้าง เริ่มตั้งแต่...
(1) นโยบาย 4 ทันสมัยคือการเกษตร อุตสาหกรรม การทหาร และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
(2) การค้นคิดนโยบาย ประเทศเดียวสองระบบเพื่อรวมเอาฮ่องกงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยไม่ต้องไปเปลี่ยนระบบของฮ่องกงให้เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะฮ่องกงเป็นแบบทุนนิยมเต็มขั้น ผู้พูดยกตัวอย่างการจัดตั้งรัฐบาลของไทยว่าถ้าหากออกมาในลักษณะที่ทั้งคนกรุงเทพและต่างจังหวัดรับได้ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ในสังคมไทย
(3) นโยบายมุ่งสู่ตะวันตกนั่นคือการขยายเขตการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศลึกเข้ามาจากชายฝั่งตะวันออกมาสู่เขตที่ล้าหลังต่างๆ เช่นพื้นที่ในมณฑลเสฉวน เป็นต้น กรณีของไทยก็น่าจะปรับมาใช้ในลักษณะของการกระจายความเจริญออกไปรอบทิศทางจนทั่วทั้งประเทศ
(4) การเสนอคำขวัญ รุ่งเรืองอย่างสันติคือไม่ไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ไม่ทำสงครามต่อกรกับใคร
(5) เสนอคำขวัญทางสากลว่า โลกที่สอดประสาน (Harmonious World) นั่นคือ การเอื้อประโยชน์กันและกันอย่างทั่วถึง ให้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะจนหรือรวย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข พูดง่ายๆ ก็คือ สันติภาพ มั่งคั่งและยั่งยืน นั่นเอง
นี่ก็คือสิ่งที่ผู้พูดได้เสนอ โดยชี้ว่าน่าจะช่วยให้ประเทศไทยจะออกจะจุดอับทางตันในปัจจุบันได้

ท่านผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามก็ได้ว่า ทำไมต้องศึกษาจากแนวนโยบายของจีน?
น่าสนใจค่ะ ขอฝากให้เก็บไปช่วยกันคิดดูดีกว่านะคะ

ขอจบไว้เท่านี้ก่อนค่ะ กลัวคนอ่านจะเครียด...เครียดไหมคะ?
คิดเสียว่าเป็น Food for Thought ละกันนะคะ 
แล้วพบกันอีกค่ะ รักทุกท่านที่เข้ามาอ่าน (จะยิ่งรักมากหากท่านมีคอมเมนท์ :D)


Monday, October 25, 2010

สิ่งโดนใจจากงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่...


โดนใจจริงๆ กับคำถามที่ว่า...

(ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า) “ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือถูกละทิ้งอย่างโดดเดี่ยว ในโลกที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวาย และ จะทำอย่างไร ไทยจึงจะไม่ถูกละทิ้ง ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว?”
ประเด็นคำถามข้างต้น ตั้งขึ้นระหว่างการกล่าวปาฐกถานำในงาน เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ หยั่งรู้อนาคต: หลักการ ทฤษฎีและเทคนิคอนาคตศึกษา (ของ อนุช อาภาภิรม) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในตอนท้ายของการปาฐกถา ซึ่งผู้พูดกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับเทคนิคอนาคตศึกษาหนึ่ง ที่เรียกว่าเทคนิคฉากอนาคต (Scenario Technique) ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกใช้เพื่อการวางแผนงานโครงการสำหรับการนำองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีการสร้างฉากอนาคตอยู่ประมาณ 3 แบบ คือ ฉากแบบดีที่สุด ฉากแบบปานกลาง และฉากที่เลวร้ายที่สุด

ผู้พูดได้ทดลองสร้างฉากอนาคตของประเทศไทยในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้ามา 3 ฉาก คือ
(1) ฉากอนาคตแบบ “ไทยเข้มแข็ง” เป็นฉากมองในแง่ดีที่สุด ซึ่งผู้พูดได้ระบุว่าประเทศไทยนั้นมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้อีกมาก แต่การเมืองยังเป็นอุปสรรค หากจะดีขึ้นได้ ก็อาจจะต้องเกิดเหตุการณ์ปะทุรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะสามารถปรองดองกันได้ดั่งที่หลายฝ่ายอยากเห็น เนื่องจากเฉพาะหน้านี้มีให้เห็นแต่การตั้งป้อม จึงต้องปะทะกันก่อน แล้วหลังจากนั้นก็สามารถพัฒนาเป็นรัฐที่เข้มแข็งในภูมิภาคได้
(2) ฉากอนาคตแบบกลางๆ คือ “ไทยเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาการป่วยเรื้อรัง” เนื่องจากมีความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ตกไป ยื้อกันไปๆ มาๆ อย่างยืดเยื้อ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ เปรียบเสมือนคนป่วยเรื้อรัง ซึ่งก็จะทำให้ไทยกลายเป็นเขตแย่งชิงอำนาจระหว่าง สหรัฐ จีน อิสลาม และอาจจะรวมรัสเซียเข้ามาอีกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลร้ายนอกจากชาติเราแล้วยังส่งผลต่อไปทั่วทั้งภูมิภาคนี้ด้วย
(3) ฉากอนาคตที่เลวร้ายที่สุดคือ “ไทยกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว และถูกละทิ้ง” ผู้พูดได้ยกบรรทัดฐานที่จะวัดความล้มเหลวของรัฐ เช่น ไม่สามารถคุ้มกันความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินให้ประชาชนได้ เวลาเกิดภัยพิบัติก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ยกตัวอย่างกรณีเกิดพายุแคธรีน่าที่ประชาชนเดือดร้อนล้มตายมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนอเมริกันไม่ให้อภัย ปธน.บุช นับแต่นั้น ตัวชี้วัดของรัฐที่ล้มเหลวอีกตัวหนึ่งคือ ความล้มเหลวของระบบความยุติธรรม และความล้มเหลวของการให้บริการสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นตัวชี้ให้เห็นความเป็นรัฐที่ล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนดีที่มีความสามารถทิ้งประเทศไปตั้งรกรากทำมาหากินที่ประเทศเขตแคว้นอื่นๆ และบรรดาเศรษฐีมีเงินต่างพากันขนเงินทองออกนอกประเทศไป

ฉันว่า น่ากลัวทุกฉากเลย จะทำยังไงดี??
ผู้พูดได้กล่าวว่า โดยลักษณะที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น ประเทศไทยอยู่ตรงศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ไทยต้องทำตัวเป็นศูนย์กลาง หากไม่เช่นนั้นก็จะถูกโดดเดี่ยวและถูกละทิ้ง...

ทิ้งท้ายว่า ผู้พูดได้นำเสนอหนทางผ่าทางตันเอาไว้อย่างน่าสนใจค่ะ
โปรดรออ่านในบล็อกหน้านะคะ 