Monday, February 14, 2011

คนที่สามารถสื่อสารได้สองภาษาขึ้นไปตั้งแต่เด็กมักมีพลังสมองที่ดีพิเศษ

Individuals with highly proficient in a second language showed a markedly better mental power!
Thoughtful Chili Paste



สวัสดีค่ะ เพื่อนชาวบล็อก และท่านที่สนใจเข้ามาอ่านเรื่องราวในบล็อกนี้

ที่บล็อกนี้ ฉันจะเข้ามาเขียน เมื่อใคร่ที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนในเรื่องสำคัญๆ (บางทีก็ไม่ถึงกะสำคัญ แค่น่าสนใจนะคะ) เกี่ยวกับตัวมนุษย์เราและสังคมของเราค่ะ คราวนี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา ทเชื่อมโยงถึงพัฒนาการของสมองของคนเรานะคะ…


Alternated Brain Food for you...

Punctilious Casing Present

แต่ดั้งเดิมเราเคยได้ยินมาว่าการเรียนรู้ภาษานั้นต้องเรียนตอนเด็กๆ หากมาเรียนตอนโตแล้วจะยากขึ้น เรายอมรับว่ามันเป็นจริงโดยข้อมูลที่ประจักษ์ทั้งแก่ตัวเราเอง และผู้คนรอบข้าง อย่างตัวเรามาเรียนภาษาฝรั่งเศส ตอนขึ้นชั้นมัธยมปลาย อายุก็ราวๆ 16-17 ปี ที่เข้าเรียกว่านักเรียนศิลป์ฝรั่งเศส และต่อเนื่องจนถึง เข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่งปีสอง ก็เลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สาม รวมแล้วสัมผัสภาษาฝรั่งเศสอยู่ถึง 4 ปี มีอาจารย์ชาวฝรั่งเศสมาสอนด้วยตอนมหาลัย เข้าแล็บภาษา ดูภาพยนตร์ในคลาส ชั่วโมงอิสตัวร์ เดอ ฟรองส์ อาจารย์เล่นเล็คเชอร์เป็นภาษาฝรั่งเศสล้วน แถมไปอาลิอองฟรองเซส์เมื่อมีหนังดีๆ มาฉายด้วยนะคะ  ก็ยังรู้สึกว่าตัวเอง งูๆ ปลาๆ ตอนเรียนชั้นมัธยมอาจารย์ให้ผันแว็ป โดนหยิกจนแขนเป็นแนว ถึงตอนนี้จำได้แต่โดนหยิก แต่จำไม่ได้ว่าแว็ปที่ถูกให้คัดเป็นหน้าๆ เหล่านั้น เป็นตัวอะไรบ้าง…
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า เรียนภาษาตอนโตจะไม่สามารถรู้ภาษานั้นๆ ได้ นะคะ แม้โตแล้ว เราก็ยังสามารถเรียนรู้และพูดภาษานั้นได้ ยิ่งหากเราได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่คนใช้ภาษานั้นๆ เป็นภาษาที่หนึ่ง เราก็จะสามารถเรียนรู้และใช้ภาษานั้นๆ ได้คล่องแคล่ว… แต่… ความหมายที่ว่าเรียนตอนโตยากนั้น ที่สำคัญก็คือ เราจะไม่มีวันเรียนรู้หรือใช้ภาษานั้นๆ ได้ดุจดังเจ้าของภาษานั่นเองค่ะ… (นี่ก็เป็นข้อสรุปทั่วไปอีกนะคะ ในนี้ก็อาจจะมียกเว้น อาจมีคนพิเศษทำได)้
เราจะคุยกันบนข้อสรุปทั่วไปนะคะ เพราะเราจะพบว่า โดยทั่วไปหากใครเติบโตในถิ่นที่พูดภาษาใด ก็จะสามารถพูดและรู้ภาษานั้นๆ เหมือนเจ้าของภาษา แม้ว่าตอนโตจะย้ายไปที่อื่นที่ใช้ภาษาอื่น แต่ภาษาที่เรียนรู้มาแต่เด็กก็จะยังคงอยู่…

มีผู้สงสัยเหมือนเรา และก็ไปศึกษาค้นคว้า โดยที่ว่าสมัยนี้เรามีความรู้เรื่องการทำงานของสมองมากขึ้น รวมทั้งกลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราอย่างมาก …
จึงมีการพบว่า คนเราในวัยเด็กเล็ก กับตอนที่โตแล้ว จะมีการเรียนรู้ภาษาที่ต่างกัน เด็กเล็กจะเรียนรู้ภาษารวมทั้งสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยสัญชาตญาณ หรือโดยจิตใต้สำนึก เป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติ จึงสามารถเรียนได้รวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมาย เค้าบอกว่า สมองของเด็กเล็กๆ ยังไม่ได้สร้างความสามารถในการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา จึงทำให้การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ลื่นไหลไปอย่างรวดเร็ว พอหลังจากอายุประมาณ 3 ขวบปี สมองจึงเริ่มการคิดเป็นเหตุเป็นผล และเริ่มมีจิตสำนึกต่างๆ การรับรู้ภาษาที่ไม่คุ้นเคยก็จะเริ่มยากขึ้น แต่ก็ยังมีศักยภาพการเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้ดีไปจนถึงเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็ประมาณ   12-13 ปีค่ะ
จึงมีข้อสรุปจากผลการศึกษาว่า การรับรู้ภาษาที่สองของคนเรา จะสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว และ ประสบความสำเร็จอย่างดีเทียบเท่าภาษาที่หนึ่งได้ ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่สมองส่วนข้าง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Temporal Lope เริ่มทำหน้าที่ของมัน นั่นคือ การควบคุมความทรงจำ การคิดเป็นเหตุผล การได้ยินและภาษานั่นเอง… ท่านลองฉายภาพยนตร์สำหรับเด็กที่เป็นเสียงซาวแทร็กของเจ้าของภาษา เช่นภาษาอังกฤษ ให้เด็กที่มีอายุประมาณขวบครึ่งถึงสี่ห้าขวบดู จะพบว่า เด็กเล็กกว่าสามขวบสามารถดูภาพยนตร์เสียงภาษาอังกฤษนั้นได้อย่างสนใจ ขณะที่เด็กโตกว่าสามขวบขึ้น จะไม่สนใจและเริ่มหันไปเล่นอย่างอื่นค่ะ
คีย์เวิร์ด ของเรื่องการเรียนรู้ภาษานี้ก็คือ Exposure ค่ะ การได้สัมผัสหรือโอกาสเปิดรับภาษาที่สองที่สาม ในช่วงวัยอายุไหนนะคะ
นอกจากนั้น ยังมีผลการศึกษาค้นคว้าอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเข้ามาด้วย เช่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรืออายุประมาณ 15 ปี กล้ามเนื้อและกระดูกที่ใบหน้าของคนเราก็เข้าสู่ภาวะที่เกือบโตเต็มที่ ซึ่งเมื่อโตเต็มที่แล้ว มันก็จะสูญเสียความว่องไวในการแยกแยะเสียงสำเนียงที่เป็นของภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาที่ตนเองพูดอยู่ เราจึงพบว่า บรรดาผู้ที่เรียนภาษาที่สองที่สามหลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว ก็จะพบความยากลำบาก ในการออกเสียงสำเนียง หรือ accent ของภาษาเหล่านั้น และไม่สามารถออกเสียงได้เหมือนกับเจ้าของภาษา
ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเยอะนะคะ เช่น เด็กที่เรียนภาษาที่สองก่อนวัย 5 ขวบ จะมีเกรย์แมทเทอร์ในสมองหนาแน่นมากเมื่อเติบโตขึ้น และพบว่า คนที่เรียนรู้เร็ว หรือพวก fast learners มักเป็นผู้ที่มีเกรย์แมทเทอร์ในสมองมากกว่าผู้ที่เรียนรู้ช้ากว่า และจะมีความสามารถในด้านการคิดสร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่น และเป็นเหตุเป็นผลมาก จากสมรรถนะของสมองที่พัฒนารองรับการรับรู้หลายภาษาในตอนเด็ก
และที่สำคัญพลังสมองของคนที่สามารถสื่อสารได้สองภาษาอย่างคล่องแคล่วจะเสื่อมตามวัย ช้ากว่าสมองคนทั่วไปค่ะ
ดังนั้น ควรให้เด็กเรียนรู้ภาษาที่สองตั้งแต่เด็กจะเป็นผลดีกับตัวเขาในตอนโตค่ะ
An Also- Girl-able Task

ส่วนผู้ที่มาเรียนตอนโต ก็ไม่ต้องท้อแท้นะคะ เราก็สามารถลื่นไหลในภาษาที่สองที่สามเหล่านั้นได้ เพียงแต่อย่าคาดหวังมากจนเครียดก็แล้วกันนะคะ
อ้อ/ ไม่ว่าจะอย่างไร หากท่านผู้ใดพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ กรุณาเขียนเข้ามาแย้งก็ได้ค่ะ จะยินดีเปิดกว้างเพื่อขยายการรับรู้ออกไป
ยาวไปแล้ว ต้องไปก่อนนะคะ บ๊าย บาย…
(สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มนะคะ ขอแนะนำผลงานของ Catherine E. Snow and Marian Hoefnagel-Hohle: The Critical Period for Language Acquisition: Evidence from Second Language Learning ในเว็บไซต์ที่ชื่อว่า http://www.kennethreeds.com/ ได้ และเว็บอื่นๆ ด้วยก็ได้ค่ะ น่าสนใจ)