Saturday, July 24, 2010

มาคุยเรื่อง "สัจจธรรม" (Truth ภาคภาษาไทย) กันค่ะ


Truth สัจจธรรม
ในภาษาไทยจะมีคำว่า สัจจธรรม หรือ ความเป็นจริง กับ คำว่า ข้อเท็จจริง เหมือนกับในภาษาอังกฤษ ที่มีคำว่า Truth และ Fact ซึ่งมักจะถูกใช้ในความหมายที่ปะปนกัน (แต่ดูเหมือนภาษาไทยจะมองเห็นความแตกต่างชัดกว่าหน่อยนึงนะคะ)

ที่จริงไม่อยากจะมาชวนท่านคุยเรื่องที่ฟังน่าเบื่อและน่าหิวน้ำตาลแบบนี้
แต่ว่า ไม่นานมานี้ เมื่อได้ยินว่าได้มีคนคณะใหญ่ (ซึ่งโดยทั่วไป ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักพอสมควร) เที่ยวแสวงหาความจริง เพื่อเอามาใช้ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก็ทำให้เกิดความใคร่รู้ อยากจะค้นหาว่า ที่ว่า ความจริงนั้น คืออะไรกันแน่

จริงแล้วพอได้ยินครั้งแรกๆ ว่าจะตรวจสอบค้นหาความจริง ไม่ทราบทำไมรู้สึกเหมือนกำลังจะได้ชื่นชมผลงานของ ผู้แสวงหาสัจจะ เพราะเนื่องจากมาใช้คำว่า “ความจริง” แทนจะใช้คำว่า “ข้อเท็จจริง” เพราะคำว่า สัจจธรรมหรือความเป็นจริงนั้น ตามความหมายก็คือ สิ่งเป็นจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ความจริงสูงสุด ไม่มีอะไรจะจริงไปกว่านี้อีกแล้ว หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีใครสามารถนำหลักฐาน ข้อพิสูจน์อื่นๆ มาหักล้างได้ หากจะเทียบเคียงก็เหมือนกับ สัจจธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีที่สำคัญ 4 ประการคือ สรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกล้วนเป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นทุกข์ สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตา และนิพพานคือความสงบอย่างยิ่ง ประเภทแบบนี้…

อันนี้เห็นชัดค่ะว่าเป็น สัจจธรรม หรือความเป็นจริง หรือบางแห่งเรียก “สัจพจน์” พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ในคำๆ นี้ รวมทั้งตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ท่านรู้สึกไหมว่า มันเป็นเรื่องที่ครอบจักรวาล เหมือนของดิ้นได้ไหลไปได้ตลอดเวลา เหมือนน้ำ มองได้หลากหลายแง่มุม และมองเห็นเป็นภาพมีรายละเอียดมากมายอย่างไม่รู้จบ จะสามารถถกเถียงกันได้อย่างไม่รู้จบ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังทรงสั่งสอนสานุศิษย์ว่า อย่าเชื่อสิ่งที่อาตมาบอก ให้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากใช้แนวนี้ความเป็นจริงของฉันกับของเธออาจจะต่างกันก็ได้ แบบคนละเรื่องเดียวกัน เพราะมันเป็นเรื่องความเชื่อแบบอัตตวิสัย (Subjectivism)

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมหรือความเป็นจริงดังกล่าว จึงมิได้เป็นสิ่งที่ใครก็ได้จะกล่าวอ้างเอามาใช้ได้ง่ายๆ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์พระองค์เองมาสองพันห้าร้อยห้าสิบกว่าปีแล้ว
แล้วในชั่วเพียงข้ามคืนไม่นาน ใครจะมาอ้างว่าสิ่งที่ตนเองพบเป็นความจริงได้ง่ายๆ หรือ? อาจต้องเจอข้อโต้แย้งมากมาย อย่างไม่รู้จบก็ได้ ใครจะการันตี

ในเมื่อเป็นแบบนี้ เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจึงอาจคาดทายได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความปรองดอง ที่จะอ้างอิงจากการค้นหาความเป็นจริงครั้งนี้ อาจกลายเป็นกระบวนการยืดเยื้อที่ไม่รู้จบ และไม่สามารถจะเข้าใกล้ความปรองดอง หากในทางตรงกันข้าม อาจขยายรอยแตกแยกให้กว้างกว่าเดิม ก้เป็นได้นะ…

ทางที่ดีแล้ว… อย่าแสวงหาความเป็นจริงแบบนี้เลยดีกว่า เพราะความเป็นจริงในแนวดังที่กล่าวมา มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นศรัทธา เรื่องทางศาสนา ความเชื่อเป็นสำคัญ ซึ่งแม้กระนั้นยังมีคำพูดที่น่าเสียวสยองให้ได้ยินบ่อยๆ ที่ว่า “อมพระมาพูดก็ยังไม่เชื่อ” น่าห่วงนะ…

ยุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล และเป็นสังคมความรู้ (Knowledge – based Society) ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่นิ่ง มีการเรียนรู้ตลอดปรับเปลี่ยนตลอด ความเจริญก้าวหน้าจึงเป็นไปรวดเร็ว กว่าคนรุ่นก่อนๆ เราจะคาดคิดได้
คนรุ่นนี้สามารถคิดได้รวดเร็ว และรอบด้านมากขึ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากมีฐานข้อมูลความรู้ให้ติดตามค้นคว้าเอามาปรับใช้ได้มากมาย และมีระเบียบวิธีการทำงานที่ทันสมัย เช่น มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยด้วย เรียกได้ว่า ผลงานที่ออกมา เกือบเทียบเท่ากับการทำวิจัย ที่ในสมัยก่อนต้องใช้เงินทอง ลงแรงเสียเวลามากกว่านี้มาก

โปรดช่วยเรียกชื่อตนเองว่า คณะตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริง (Facts finder / investigator) ดีกว่าค่ะ ทำให้มันเป็นภววิสัย (Objectivism) และก็วางกรอบแนวคิดไว้ให้ชัดเจนอย่างเปิดเผยว่า จะต้องการหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดประเด็นใด ในกรอบระยะเวลาจากไหนถึงไหน ใช้ระเบียบวิธีการแบบไหน ใช้เครื่องมือการรวบรวมข้อมูลอะไรบ้าง และมีแนวทางในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลอย่างไร แบบนี้ดีกว่า เสร็จแล้วนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ให้สาธารณชนได้รับรู้และควรปล่อยให้สาธารณชน ได้ใช้สมองตัวเองพิจารณาและตัดสินว่า เค้าจะเชื่อถือหรือไม่
แบบนี้น่าจะพอมีหวังสร้างความปรองดองขึ้นมาได้บ้าง…

ได้บ้างไหมหนอ? 

2 comments:

  1. โอ.เด็ด !อ่านแล้วได้ความรู้และมีข้อแก้ตัวสำหรับการแอบกิน Chocolate Bounty แล้วฮะ...

    ว่างๆ จะมาอ่านอีกนะครับ

    ^^

    ☆☆☆

    ReplyDelete
  2. Thanks ja, Nannue!
    Watch your weight duay na... & Don't blame me la

    ReplyDelete