Monday, October 27, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (14)

สถานการณ์น่าตกใจฝันสลายในชั่วข้ามคืน

ขอบคุณภาพจากเน็ต
ตอนนี้จะขอพาทุกท่านมาดูว่าในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2522 (ค.ศ. 1977-1979) มีสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอะไรบ้างทั้งภายในและภายนอกประเทศของเราค่ะ
(1) ในประเทศจีนหลังการมรณกรรมของประธานเหมา มีการริเริ่มกระบวนการขจัดอิทธิพลด้านลบของการปฏิวัติวัฒนธรรม และกลุ่มสี่คน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยบนกำแพง เรียกว่า Beijing Spring (เอามาจาก Praque Spring ที่เชโกสโลวะเกียในปี 1968) ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับกลุ่มสี่คน และการขึ้นสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิง พร้อมคำขวัญโด่งดังที่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้” นั่นเอง
(2) สถานการณ์เพื่อนบ้านของเรา พบว่าช่วงปลายปี 1977 เวียดนามที่เพิ่งปลดปล่อยใหม่เกิดกระทบกระทั่งกับอำนาจรัฐเขมรแดงในกัมพูชาซึ่งได้รับชัยชนะก่อนเมื่อปี 1975  และเดินนโยบายซ้ายจัดอพยพคนออกจากเมืองขนานใหญ่ (น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่ดำเนินเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 1960s) มีการสู้รบระหว่างกองกำลังสองฝ่ายบริเวณพรมแดนของสองประเทศ และนำไปสู่การบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญของทัพเวียดนามในต้นปี 1979
(3) ในช่วงเวลาเดียวกันคือปลายปี 1977ในประเทศไทยเรา ได้เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และในครั้งนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของไทย รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ริเริ่มเดินนโยบายเชิงรุกในหลายเรื่อง เช่นการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 3 ประเทศอินโดจีนคือ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว รวมทั้งการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังดำเนินนโยบายปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี พ.ศ. 2521 ได้เสนอให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกจำคุกและต้องหลบหนีจากกรณี 6 ตุลา 2519 ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ นอกจากนั้น รัฐบาลเกรียงศักดิ์ยังได้ริเริ่มนโยบายอภัยโทษให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รับการสานต่อในยุครัฐบาล พลเอกเปรม ในรูปของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นั่นเอง
(4) ปีสำคัญที่ต้องจับตามากที่สุดคือปี 2522 หรือ 1979 เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1979 ที่เวียดนามได้กรีฑาทัพบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาไว้ได้ ส่งผลให้เขมรแดงต้องแตกกระเจิงหนีเข้ามาฝั่งไทยและอาศัยดินแดนไทยเป็นฐานในการทำสงครามกองโจรอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นก็มีข่าวว่ารัฐบาลไทยร่วมมือกับจีนในการหนุนช่วยเขมรแดงสู้กับเวียดนาม (ซึ่งยึดครองกัมพูชาไว้ถึง 11 ปีหลังจากนั้น) แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ การทำสงครามสั่งสอนเวียดนามของจีนในเดือนถัดมา (กุมภาพันธ์ 1979) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา
การทะเลาะกันอย่างยืดเยื้อระหว่างจีนกับเวียดนาม รวมทั้งลาวซึ่งเลือกยืนอยู่ข้างเวียดนามดังกล่าว ได้ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อขบวนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ และโดยเฉพาะพรรคไทย ซึ่งยืนอยู่ได้ก็ด้วยการหนุนช่วยทั้งของจีน และขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างมาก
หมดกันเลยค่ะ! ฉันเริ่มคิดในใจว่า “...เราคงต้องตกงานอีกแล้ว...” เอ้... เพิ่งทำงานได้ยังไม่ทันครบปีเลย//
ช่วงนั้น ฉันติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง และคิดในใจว่า จีนกับโซเวียตไม่น่าจะทะเลาะกันเลย ฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับการแตกคอกันของสองผู้ยิ่งใหญ่นี้ (ซึ่งจะกล่าวถึงหากมีโอกาสค่ะ) ครั้งนั้นสื่อตะวันตกตีข่าวทำนองว่า คอมมิวนิสต์รบกันเอง ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิครีวิว ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ทำนองว่า จีนเลิกหนุนช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเมื่อรัฐบาลต่อรัฐบาลของสองประเทศหันมาจับมือกัน...
(5) มาดูสถานการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ความจริงแล้วหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 พรรคไทยมีคนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ด้วยจำนวนมาก เรียกว่าเติบโตขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีพรรคแนวร่วม เช่นพรรคสังคมนิยมเข้ามาร่วม มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมาธิการประสานงานกองกำลังแนวร่วม (คล้ายๆ นี้ค่ะ) (ตามตัวเลขทางการ) กองทัพปลดแอกประชาชนไทยมีกำลังพลนับหมื่นคน มีเขตปลดปล่อยทั่วประเทศสองร้อยกว่าแห่ง รวมมีเขตแทรกซึมกระจายตามในจังหวัดต่างๆ ถึงครึ่งประเทศแล้ว...
แต่...เหมือนฝันร้ายเพียงชั่วข้ามคืน หลังพิงที่มีความสำคัญไม่น้อยของพรรคไทยก็หายวับไป ทุกสำนักที่ตั้งอยู่ในเขตลาวต้องปิดหมด ทุกอย่างที่เคยปฏิบัติร่วมกับเวียดนามก็ยุติทั้งหมด พรมแดนที่เคยอาศัยเดินทางผ่านก็ปิดลงโดยสิ้นเชิง เมื่อพรรคไทยต้องเลือกเข้าข้างจีนในสงครามที่ยืดเยื้อครั้งนี้
และแล้ว...ในที่สุด... ฟ้าก็ผ่าลง สปท.! ... เมื่อเจ้าสำนักเปิดประชุมใหญ่แจ้งกับทุกคนว่า สถานีจะงดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2522 เป็นต้นไป//
จากนั้นฉันก็ได้เห็นสหายหน้าใหม่ๆ ทั้งจากแนวหน้าและจากสำนักหลายๆแห่งในเขตลาว ทยอยเดินทางมาถึงสำนักเราอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งมีข่าวว่า บรรดาสหายจากสำนักแนวร่วมส่วนที่ยังเหลืออยู่ ก็เดินทางเข้าเขตจีนหมด///

No comments:

Post a Comment