Tuesday, October 28, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (อวสาน)

การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง...สู่การจากลาอย่างอารยะ

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ตค่ะ
ก่อนอื่นฉันอยากพูดถึงคำว่า “จัดตั้ง” ในความเข้าใจของฉันสักเล็กน้อย ในครั้งนั้นคำๆ นี้เป็นคำที่ค่อนข้างนามธรรมสำหรับฉัน เริ่มแรกเข้าใจว่ามันเป็นคำกลางๆ สำหรับเรียก “ผู้ใหญ่” ในพรรคฯ ที่อยู่ในสถานภาพที่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ได้  ต่อมาก็เห็นว่ามันก็เป็นระบบการจัดการบริหารองค์กรอย่างหนึ่งที่มีลักษณะสั่งการเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) และใครก็ตามที่มาอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ในที่สุดแล้วก็จะต้องถูก “จัดตั้ง” ซึ่งลักษณะเช่นนี้ จัดตั้งก็ดูเหมือนจะเป็น “ผู้นำทางความคิด หรือ mentor” แต่ก็มีอะไรที่มากกว่านั้น เพราะขณะเดียวกันคนๆ นั้นก็จะต้องไปจัดตั้งคนอื่นๆ ต่อๆ ไป จัดตั้งอาจเป็นผู้สั่งการให้ผู้ที่อยู่ในลำดับชั้นล่างลงไปปฏิบัตินั่นนี่ มีภารกิจที่ต้องไปบรรลุเพื่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของส่วนรวม โดยมี “กฎเหล็ก” ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน เสียงข้างน้อยขึ้นต่อเสียงข้างมาก ส่วนทั้งหมดขึ้นต่อศูนย์กลาง เป็นต้น ซึ่งมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกสไตล์การบริหารจัดการหรือการปกครองแบบนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์”
ที่น่าสังเกตคือมีสหายบางคนรู้สึกว่า พรรคและจัดตั้งเป็นเหมือน “พ่อแม่” ที่คอยอบรมชี้นำสั่งสอนเอาเรื่องสำคัญๆ มาบอก มาคอยดูแลทุกข์สุขคอยช่วยเหลือเมื่อพบเจอปัญหา ฯลฯ
ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะหากใครอ่านข้อความข้างต้นแล้วไม่เข้าใจ หรือคลุมเครือ... !
........
ที่พยายามพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจาก ในช่วงเวลาค่อนไปทางปลายปี 1978 หรือ พ.ศ. 2521 เห็นจะได้นะคะ สหายอาวุโสในสำนักที่ฉันล้วนเคารพนับถือ ได้เมตตาให้ฉันเข้าโครงการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพรรค จัดตั้ง และลัทธิมาร์กซ์-เลนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งฉันเข้าใจว่า เพื่อให้ฉันได้ผ่านกระบวนการตามขั้นตอนของผู้ที่จะเข้าสู่การจัดตั้งของพรรค อะไรทำนองนี้นะคะ โปรแกรมและกระบวนการดังกล่าวดูเหมือนจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง ศึกษาเสร็จแล้วก็เขียนรายงานความเข้าใจ และdefend ความเข้าใจของตนเองกับ “จัดตั้ง” คล้ายๆ แบบนี้นะคะ /
ด้วยความเคารพ... เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ฉันจะขอเขียนในเชิงการรำลึกถึงเหตุการณ์จากมุมมองของตนเองเป็นหลักนะคะ เพราะในระหว่างนั้นหากได้มีการพิจารณาเอกสารรายงานผลการศึกษาของฉันในหมู่สหายในกลุ่มจัดตั้งชั้นบนกันอย่างไรนั้น ฉันก็ไม่ได้มีโอกาสรับรู้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องปิดลับ...
 แต่... แต่สิ่งที่ฉันอยากจะบอกก็คือ... กระบวนการที่ฉันต้องศึกษาทบทวนเรื่องต่างๆ นี้เอง กลับทำให้ตัวฉันเองได้ค้นพบและได้มีโอกาสทำความกระจ่างในหลายๆ เรื่องที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดมาก่อนค่ะ... บอกได้เลยว่าจนถึงวันนี้ ยังรู้สึกขอบคุณสหายอาวุโสที่ได้เปิดโอกาสให้ฉันได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวในครั้งนั้นเป็นอย่างสูงค่ะ
ครั้งนั้น ฉันทำงานไปด้วยและก็ศึกษาค้นคว้าทบทวนประเด็นเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอดช่วงเวลาหลายเดือน คิดว่าถึงราวๆ ปลายปี 1978 หากจำไม่ผิด ฉันก็ได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้วค่ะ (บางคนได้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรกค่ะ) ฉันก็ได้ตัดสินใจเขียน “พิจารณาตัวเอง” ลงไปในรายงานที่จะเสนอต่อจัดตั้งด้วยความเคารพและจริงใจอย่างถึงที่สุดว่า ...ฉันคงไม่สามารถเข้าสู่การจัดตั้งของพรรคได้ เพราะฉันไม่เห็นด้วยกับแนวทางสำคัญๆ ของพรรคหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับจุดยืนท่าทีของพรรคในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต แต่ฉันก็เข้าใจถึงความจำเป็นของพรรคและเคารพต่อการตัดสินใจเลือกของพรรค...
ขอบคุณภาพจากเน็ตค่ะ
จนถึงทุกวันนี้ ฉันยังรู้สึกซาบซึ้งถึงความกระตือรือร้นและความเอาใจใส่ของบรรดาสหายอาวุโสหลายคน ที่ต่างก็สละเวลามาเดินคุยเพื่อทำความกระจ่างในปัญหาของฉันคนละหลายครั้งรวมระยะทางหลายสิบกิโลเป็นเวลาหลายวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฉันก็หวังว่าฉันได้ทำให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจในความคิดเห็นของฉัน ซึ่งไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวแต่อย่างใดเลย
และก็เป็นความบังเอิญที่เรื่องของฉันมาประจวบกับช่วงเกิดปัญหาใหญ่ ที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ดำเนินไปถึงจุดระเบิดเกิดการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันอย่างละเลงเลือดในช่วงต้นปี 1979 และหลังจากการประกาศปิดสถานีวิทยุ สปท. ไม่นาน สหายพจน์ก็ได้ตัดสินใจขอเดินทางออกจากประเทศจีน ซึ่งมีกระบวนการยาวนานประมาณ 2 ปี กว่าจะได้เดินทางออกจากสำนักจริงๆ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีเพื่อนและน้องๆ เข้ามาร่วมเป็นกลุ่มทั้งหมด  6 คน
ในช่วง 2 ปี ระหว่างการรอเดินทางออกนั้น ทางสำนักก็ได้จัดให้เรามีพื้นที่ของตนเองเฉพาะกลุ่ม และไม่มีกิจกรรมร่วมกับสหายอื่นๆ ดังที่เคยปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดประชุมพิเศษระหว่างกลุ่มเรากับสหายนำระดับสูงๆ ที่อยู่ในประเทศจีนช่วงนั้นหลายคน และหลายครั้ง เพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นภาพประทับใจที่ฉันยังจำติดตาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
เพราะนั่นมันคือการจากลากันอย่างอารยะ... เป็นการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างอารยชนพึงกระทำค่ะ/
นั่นคือท่าทีและการปฏิบัติที่มีอานุภาพ หนุนนำให้เราเหลือพื้นที่ในใจที่จะจดจำสิ่งดีๆ ไว้ได้อย่างแม่นยำ...แม้เวลาล่วงเลยตราบนานเท่านาน...และด้วยจิตคารวะอย่างจริงใจค่ะ///

ข้อเขียน ...อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา” ...รำลึกชีวิตที่รอนแรมในกระบวนการต่อสู้... ก็จบบริบูรณ์เพียงเท่านี้

Monday, October 27, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (14)

สถานการณ์น่าตกใจฝันสลายในชั่วข้ามคืน

ขอบคุณภาพจากเน็ต
ตอนนี้จะขอพาทุกท่านมาดูว่าในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2522 (ค.ศ. 1977-1979) มีสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอะไรบ้างทั้งภายในและภายนอกประเทศของเราค่ะ
(1) ในประเทศจีนหลังการมรณกรรมของประธานเหมา มีการริเริ่มกระบวนการขจัดอิทธิพลด้านลบของการปฏิวัติวัฒนธรรม และกลุ่มสี่คน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยบนกำแพง เรียกว่า Beijing Spring (เอามาจาก Praque Spring ที่เชโกสโลวะเกียในปี 1968) ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับกลุ่มสี่คน และการขึ้นสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิง พร้อมคำขวัญโด่งดังที่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้” นั่นเอง
(2) สถานการณ์เพื่อนบ้านของเรา พบว่าช่วงปลายปี 1977 เวียดนามที่เพิ่งปลดปล่อยใหม่เกิดกระทบกระทั่งกับอำนาจรัฐเขมรแดงในกัมพูชาซึ่งได้รับชัยชนะก่อนเมื่อปี 1975  และเดินนโยบายซ้ายจัดอพยพคนออกจากเมืองขนานใหญ่ (น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่ดำเนินเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 1960s) มีการสู้รบระหว่างกองกำลังสองฝ่ายบริเวณพรมแดนของสองประเทศ และนำไปสู่การบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญของทัพเวียดนามในต้นปี 1979
(3) ในช่วงเวลาเดียวกันคือปลายปี 1977ในประเทศไทยเรา ได้เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และในครั้งนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของไทย รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ริเริ่มเดินนโยบายเชิงรุกในหลายเรื่อง เช่นการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 3 ประเทศอินโดจีนคือ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว รวมทั้งการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังดำเนินนโยบายปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี พ.ศ. 2521 ได้เสนอให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกจำคุกและต้องหลบหนีจากกรณี 6 ตุลา 2519 ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ นอกจากนั้น รัฐบาลเกรียงศักดิ์ยังได้ริเริ่มนโยบายอภัยโทษให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รับการสานต่อในยุครัฐบาล พลเอกเปรม ในรูปของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นั่นเอง
(4) ปีสำคัญที่ต้องจับตามากที่สุดคือปี 2522 หรือ 1979 เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1979 ที่เวียดนามได้กรีฑาทัพบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาไว้ได้ ส่งผลให้เขมรแดงต้องแตกกระเจิงหนีเข้ามาฝั่งไทยและอาศัยดินแดนไทยเป็นฐานในการทำสงครามกองโจรอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นก็มีข่าวว่ารัฐบาลไทยร่วมมือกับจีนในการหนุนช่วยเขมรแดงสู้กับเวียดนาม (ซึ่งยึดครองกัมพูชาไว้ถึง 11 ปีหลังจากนั้น) แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ การทำสงครามสั่งสอนเวียดนามของจีนในเดือนถัดมา (กุมภาพันธ์ 1979) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา
การทะเลาะกันอย่างยืดเยื้อระหว่างจีนกับเวียดนาม รวมทั้งลาวซึ่งเลือกยืนอยู่ข้างเวียดนามดังกล่าว ได้ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อขบวนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ และโดยเฉพาะพรรคไทย ซึ่งยืนอยู่ได้ก็ด้วยการหนุนช่วยทั้งของจีน และขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างมาก
หมดกันเลยค่ะ! ฉันเริ่มคิดในใจว่า “...เราคงต้องตกงานอีกแล้ว...” เอ้... เพิ่งทำงานได้ยังไม่ทันครบปีเลย//
ช่วงนั้น ฉันติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง และคิดในใจว่า จีนกับโซเวียตไม่น่าจะทะเลาะกันเลย ฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับการแตกคอกันของสองผู้ยิ่งใหญ่นี้ (ซึ่งจะกล่าวถึงหากมีโอกาสค่ะ) ครั้งนั้นสื่อตะวันตกตีข่าวทำนองว่า คอมมิวนิสต์รบกันเอง ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิครีวิว ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ทำนองว่า จีนเลิกหนุนช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเมื่อรัฐบาลต่อรัฐบาลของสองประเทศหันมาจับมือกัน...
(5) มาดูสถานการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ความจริงแล้วหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 พรรคไทยมีคนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ด้วยจำนวนมาก เรียกว่าเติบโตขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีพรรคแนวร่วม เช่นพรรคสังคมนิยมเข้ามาร่วม มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมาธิการประสานงานกองกำลังแนวร่วม (คล้ายๆ นี้ค่ะ) (ตามตัวเลขทางการ) กองทัพปลดแอกประชาชนไทยมีกำลังพลนับหมื่นคน มีเขตปลดปล่อยทั่วประเทศสองร้อยกว่าแห่ง รวมมีเขตแทรกซึมกระจายตามในจังหวัดต่างๆ ถึงครึ่งประเทศแล้ว...
แต่...เหมือนฝันร้ายเพียงชั่วข้ามคืน หลังพิงที่มีความสำคัญไม่น้อยของพรรคไทยก็หายวับไป ทุกสำนักที่ตั้งอยู่ในเขตลาวต้องปิดหมด ทุกอย่างที่เคยปฏิบัติร่วมกับเวียดนามก็ยุติทั้งหมด พรมแดนที่เคยอาศัยเดินทางผ่านก็ปิดลงโดยสิ้นเชิง เมื่อพรรคไทยต้องเลือกเข้าข้างจีนในสงครามที่ยืดเยื้อครั้งนี้
และแล้ว...ในที่สุด... ฟ้าก็ผ่าลง สปท.! ... เมื่อเจ้าสำนักเปิดประชุมใหญ่แจ้งกับทุกคนว่า สถานีจะงดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2522 เป็นต้นไป//
จากนั้นฉันก็ได้เห็นสหายหน้าใหม่ๆ ทั้งจากแนวหน้าและจากสำนักหลายๆแห่งในเขตลาว ทยอยเดินทางมาถึงสำนักเราอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งมีข่าวว่า บรรดาสหายจากสำนักแนวร่วมส่วนที่ยังเหลืออยู่ ก็เดินทางเข้าเขตจีนหมด///

Sunday, October 26, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (13)

สำนัก สปท. ที่ยังตราตรึงในความทรงจำ

ขอบคุณภาพทิวทัศน์คุนหมิงจากเน็ต
กลับมาสวัสดีทุกท่านอีกครั้งหลังจากหยุดพักเบรกไปสองสามวันนะคะ บันทึกรำลึกอย่างย่อชุดนี้ก็ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายใกล้จบแล้วค่ะ ใคร่ครวญดูแล้วก็น่าจะเหลืออีกประมาณ 3 ตอนรวมทั้งตอนนี้ด้วย ก็จะถึงวาระอวสานตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้เพื่อรำลึกเหตุการณ์เรื่องราวที่ฉันผ่านพบในช่วงนี้โดยเฉพาะแล้วนะคะ หากทุกท่านสังเกตก็จะพบว่า ฉันได้เลือกเล่าบางเหตุการณ์เพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่ที่เชื่อมร้อยในระยะเวลารวมทั้งหมดประมาณ 5 ปีที่ฉันรอนแรมอยู่ทั้งในป่าเขาและในต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละตอนก็ได้อมเหตุการณ์ย่อยต่างๆ ไว้มากมายที่ฉันไม่ได้นำมาเขียนเล่า เพราะมิฉะนั้น เรื่องรำลึกชีวิตนี้มันก็จะไม่สามารถจบลงใน 15 ตอนแบบนี้ละค่ะ เอาไว้หากว่าใครอยากจะคิดทำซี่รี่แบบเกาหลีนะ ก็จะกลับมาลงแรงเขียนต่อเติมเพิ่มเข้ามาเอาให้ดุเด็ดเผ็ดมันชนิด dig deep ลงในรายละเอียดเชิงมหากาพย์กันอีกทีละกันนะคะ
ในตอนนี้ จะเล่าบรรยากาศในสำนัก สปท. ระหว่างที่ฉันเข้าไปร่วมทำงานและนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่ยังเหมือนสดใหม่อยู่ในความทรงจำของแท้ๆ แบบอินสแต้นท์จากมุมมองของฉัน เพราะสหายท่านอื่นๆ ก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างไปจากฉัน เป็นอันเข้าใจร่วมกันตามนี้นะคะ
สำนัก สปท. หรือสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ในมุมมองของฉันในช่วงที่ฉันได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงาน เป็นสำนักของคนทำงานสื่อค่ะ ฉันประจำอยู่ในกองบรรณาธิการติดตามข่าวเขียนรายงานข่าวต่างประเทศ ซึ่งในกองก็มีสหายร่วมทำงานอยู่ทั้งหมดประมาณ 4-5 คน ดูเหมือนฉันจะอาวุโสน้อยสุดในเวลานั้น ส่วนกองข่าวในประเทศดูเหมือนจะเป็นกองใหญ่ มีสหายอาวุโสทำงานอยู่มากหน้าหลายตา รวมทั้งสหายพจน์ก็อยู่ในกองนี้ด้วยค่ะ เวลาในการทำงานในสำนักแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือเช้าถึงเที่ยงวัน หลังรับประทานอาหาร (มีโรงครัวแยกต่างหาก ห้องอาหารรวมเป็นแบบโต๊ะจีนมีสหายร่วมโต๊ะกันประจำประมาณ 6-10 คน) มีช่วงพักนอนงีบตอนบ่าย (Siesta แบบคนฝรั่งเศส ซึ่งทิ้งเป็นมรดกไว้ในประเทศอินโดจีน) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
เริ่มทำงานช่วงที่สองประมาณบ่ายสองโมงเศษๆ ไปจนถึงประมาณ 4-5 โมงเย็น เลิกงาน สหายก็จะมีเวลาออกกำลังกาย บ้างก็เล่นวอลเล่ย์บอล (สหายพจน์เล่นจนนิ้วซ้นไป 1 นิ้ว) บ้างก็ตีปิงปอง (ฉันจองโต๊ะปิงปองประจำเลยค่ะ) สหายอาวุโสบางคนจะเดินตามถนนในสำนักซึ่งกว้างยาวไม่น้อยค่ะ จากนั้นก็อาบน้ำในโรงอาบน้ำที่มีเตาต้มน้ำใหญ่ควันโขมงอยู่ตลอดเวลา รับประทานอาหารเย็นประมาณ 6 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม จะมีการทำงานอีกช่วงหนึ่งระหว่าง 2 ทุ่มเศษ ถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม แต่บางทีสหายบางคนงานเร่งบ้างไม่เสร็จบ้างอะไรบ้าง บรรยากาศการทำงานแบบโต้รุ่งต้มบะหมี่ชงกาแฟหยาดหยดแบบเวียดนามข้างเตาผิงกลางห้องทำงานจึงเป็นบรรยากาศปกติธรรมดาของกองบรรณาธิการนี้เลยละค่ะ
ดังนั้น ทุกท่านเมื่อหลับตานึกภาพตามฉันมาเรื่อยๆ ก็คงเข้าใจแล้วละค่ะว่า ที่ทำงานของฉันนั้นแวดล้อมด้วยนักเขียนนักวิเคราะห์ข่าวสาร ผู้ใช้และมากด้วยจินตนาการอย่างสูง เพื่อผลิตต้นฉบับที่เมื่อได้รับการนำไปอ่านออกอากาศทางวิทยุ ผู้รับสารที่เป็นสหายทั้งแนวหลังแนวหน้ารวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจ ก็จะได้รับข่าวสารฟังการวิเคราะห์สรุปเสนอแนวคิดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยหลักการและความมีชีวิตชีวาที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายนั่นเองค่ะ
แน่นอนที่สุดค่ะ กองข่าวต่างประเทศที่ฉันร่วมงานอยู่ในครั้งนั้น มีบรรยากาศต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาอย่างเข้มข้นมากๆ เพราะในครั้งนั้นอเมริกาสนับสนุนเผด็จการ ดังนั้น มันจึงสอดคล้องมากกับอารมณ์เกลียดจักรพรรดินิยม เกลียดเผด็จการอย่างมากของฉัน (ช่วงนั้นการต่อต้านอเมริกาเป็นกระแสใหญ่สะพัดไปทั่วโลก) และในระหว่างนั้นเองสถานการณ์ของอเมริกาก็กำลังแย่เนื่องจากเพิ่งพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามต้องล่าถอยต้องถอนทหารนับแสนคนออกจากสมรภูมิที่เวียดนาม เราจึงพบว่าการเคลื่อนไหวของอเมริกามักจะเข้าแนวทางการวิเคราะห์ของฝ่ายประชาชนที่ว่า จักรพรรดินิยมนั้นใกล้ตายชอบที่จะยกก้อนหินทุ่มขาตัวเองอยู่ประจำ คือมักจะเลือกทำอะไรๆ ที่จะทำให้ตัวเองแย่ลงเรื่อยๆ เสมอ
และตามประสาการมองไกลไปข้างหน้าเสมอของเหล่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งปวง ก็ทำให้คนในขบวนการนี้มักจะมีจินตนาการเห็นทะลุทะลวงไปว่า แม้หนทางจะคดเคี้ยว แต่การต่อสู้ของประชาชนนั้นถูกต้องมีความเป็นธรรม จึงมีอนาคต และจะได้รับชัยชนะในที่สุดอย่างแน่นอนค่ะ ขวัญกำลังใจสูงมากๆ ในเวลานั้น
อย่างไรก็ตามสหาย ในสำนักก็ใช่ว่าจะนั่งอึดทึดอยู่แต่ในเก้าอี้เท้าแขนกันทั้งวันทั้งคืน ดังที่กล่าวแล้วว่า มีช่วงเวลาการพักการทำงานการเล่นกีฬา นอกจากนั้นยังมีช่วงของการบันเทิง มีวันหยุดที่ได้ออกไปซื้อของในเมืองคุนหมิง มีการจัดทัศนศึกษาเดินทางไปเยือนสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นระยะๆ เช่นไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฟุเจี้ยน หูหนาน เป็นต้น และที่สำคัญ สหายทุกคนมีโอกาสร่วมใช้แรงงานในแปลงผักหลังสำนัก ที่มีทั้งผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ถั่วลันเตา มีการสับเปลี่ยนกันไปรดน้ำรดปุ๋ย เก็บเกี่ยว ฯลฯ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

เอาละค่ะ ทั้งหมดที่เห็นและเป็นอยู่นั้น ก็เป็นที่ทราบกันว่า หลักๆ มาจากการช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งพรรคพี่น้องในอินโดจีนที่เป็นเสมือนหลังพิงที่สำคัญให้แก่พรรคไทยนั่นเอง คิดง่ายๆ ถ้ามีสำนักทำนองนี้ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ก็คงถูกทิ้งระเบิดราบเป็นหน้ากลองไปนานแล้วนั่นเอง///

Wednesday, October 22, 2014

อันเนื่องมาจาก “กรณี 6 ตุลา”... รำลึกชีวิตที่รอนแรมในขบวนการต่อสู้ (12)

ขอกราบขอบพระคุณ “คุณลุงกุหลาบ” ค่ะ

ฉันได้รับการต้อนรับจากสหายในสำนักอย่างอบอุ่น... “ที่นี่มี 4 ฤดูในวันเดียวนะ สหายต้องเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝน กับเสื้อกันหนาวหนาๆ ไว้ตลอด” สหายคนหนึ่งบอกถึงลักษณะพิเศษที่น่าทึ่งของเมืองคุนหมิง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,800 เมตร ออกซิเจนก็ค่อนข้างเบาบาง ต้องสูดหายใจลึกๆ พวกนักกีฬาที่มาจากพื้นราบมาแข่งขันที่นี่น๊อคมาเยอะแล้ว” สหายอีกคนหนึ่งเล่า และมีสิ่งที่สหายเกือบทุกคนที่นี่ต้องการอย่างมากก็คือ การได้รับฟังเรื่องราวจากแนวหน้า โดยเฉพาะที่ภาคใต้ค่ะ ฉันก็เล่าให้สหายฟังตามที่ตนเองเห็นและได้ผ่านมาค่ะ ดูท่าทางสหายทุกคนมีความกระตือรือร้นที่ได้รับฟังเรื่องราวจากแนวหน้าค่ะ...
เหตุการณ์ตอนไปถึงใหม่ๆ ที่จำได้แม่นคือ ทุกคนที่นี่ต้องมีของประจำตัวสองอย่างที่ขาดเสียมิได้นั่นคือ “กาละมังแช่เท้ากับกระติกน้ำร้อน” เพื่อทำพิธีกรรมก่อนเข้านอนในเตียงที่มีผ้านวมหนานุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมีฤดูกาลที่ไม่แน่นอน ทุกห้องจึงไม่มีเครื่องทำความอุ่น ในวันที่อากาศหนาวมาก ทุกคนใช้กระติกน้ำร้อนซุกไว้ใต้ที่นอน และก่อนนอนก็เอาเท้าแช่น้ำอุ่น ส่วนหนึ่งก็เป็นการทำความสะอาดเท้า และสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายตามธรรมชาติด้วยค่ะ (นึกถึงซีรี่เกาหลี ฉากที่พระเอกล้างเท้าให้นางเอกไหมคะ? แต่..อันนี้นางเอกแช่เท้าล้างและนวดเท้าเองอย่างเอาจริงเอาจังค่ะฉากนี้)
“ห้องพักนี้เดิมเป็นห้องที่พักของคุณลุงกุหลาบ” สหายพจน์ (ชื่อจัดตั้งของสามีค่ะ) เริ่มเล่าแบคกราวน์ดาต้าให้ฉันฟังไปเรื่อยๆ ฉันตื่นเต้นมาก “กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา ของนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ น่ะเหรอ?”
โอ... เราได้อยู่ในห้องที่เคยเป็นที่พำนักของนักคิดนักเขียนที่โดดเด่นมากของเมืองไทยเลยหรือนี่?
รู้สึกตื้นตัน... ตื่นเต้น... เป็นปลื้ม...
สหายพจน์เล่าว่า คุณลุงพักอยู่ที่นี่หลายปี และเพิ่งเสียไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี่เอง (คุณลุงกุหลาบถึงแก่มรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2517 ค่ะ) และสหายเจ้าสำนักที่นี่เพิ่งเปิดห้องนี้ให้เรามาพักอยู่ “รู้สึกจะเป็นห้องเดียวที่มีห้องน้ำที่เป็นโถชักโครกแบบตะวันตก” โอ... ช่างเป็นบุญที่เคยสร้างมาแต่ปางใด... มีห้องเก็บของเล็กๆ ฉันสังเกตเห็นสหายพจน์แอบสะสมพวกสาหร่ายที่เป็นแผ่นๆ รวมทั้งเส้นบะหมี่ซองๆ เอาไว้จำนวนหนึ่งด้วย “กลัวขาดไอโอดีน” สหายบอก เอามาต้มกินเป็นครั้งคราวโดยมีเตาไฟฟ้าเล็กๆ อยู่ในห้องด้วย ...เลิศ!
คืนแรกที่สำนักนี้ฉันหลับสนิทเป็นตายไปกี่ชั่วโมงไม่ได้นับ แต่เมื่อฉันตื่นขึ้นลงจากเตียงมองไปข้างนอกจากหน้าต่างกระจก บรรยากาศเช้ามืดภายในสำนักยังเงียบสงัด แต่... แต่ฉันมองเห็นอะไรแปลกๆ เป็นสีขาวโพลนทั่วไปหมด... หิมะนั่นเองค่ะ หิมะตกในคืนแรกที่ฉันมาถึง! ฉันตื่นเต้นมาก... เพราะก็เพิ่งเห็นหิมะจริงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่นี่แหละค่ะหิมะแอบตกในคืนที่ฉันเพิ่งมาถึง! เชื่อแล้วที่ว่าวันๆ หนึ่งมีหลายฤดู (ยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งพบว่ามันเป็นเช่นนั้นค่ะ) หลังจากนั้นสหายทั้งสำนักก็ตื่นเต้นกับหิมะที่เพิ่งตกครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีเลยทีเดียว สหายพาฉันไปซื้อรองเท้าสำหรับใส่กันหิมะกัด โดยแนะนำให้ซื้อบู๊ทหุ้มข้อหนังกลับสีน้ำตาลเข้ม มันก็ได้เป็นรองเท้าคู่เก่งตลอดช่วงที่แนวหลังนี้ค่ะ...
จากนั้นไม่นานนักนะคะ ฉันก็ได้เข้าทำงานในแผนกงานเขียนรายงานข่าวต่างประเทศของ สปท. โดยดูเหมือนฉันจะเป็นคนเดียวในแผนกนี้ที่ใช้แหล่งข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่สหายคนอื่นๆ สามารถฟัง อ่าน พูดและอาจรวมทั้งเขียนภาษาจีนได้
ฉันดีใจที่ได้มาทำงานที่ตนเองถนัด และที่นี่รับหนังสือเอกสารรวมทั้งแมกกาซีนข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่ไม่น้อย เช่นมีทั้ง ไทมส์, นิวส์วีค, ฟาร์อิสเทิร์นอิโคโนมิกส์รีวิว, ยูเอสนิวส์แอนด์เวิร์ลรีพอร์ต, ปักกิ่งรีวิว, ซินหัวนิวส์ เป็นต้น รวมทั้งมีเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นที่มีกำลังสูงสามารถรับสัญญาณได้อย่างชัดเจนกว่าตอนที่อยู่ในป่าที่ภาคใต้ ฉันได้พัฒนาความเร็วในการจดข่าวที่รับฟังจากวิทยุขึ้นมาชุดหนึ่ง (เป็นพวกสัญลักษณ์และตัวย่อต่างๆ) จนสามารถจดรายละเอียดของข่าวที่รับฟังจากวิทยุได้เกือบครบถ้วน จึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งข่าวได้อีกส่วนหนึ่งด้วย
ได้รับทราบจากสหายว่า บรรดาหนังสือนิตยสารภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในสำนักนี้นั้น มีมาตั้งแต่ครั้งที่คุณลุงกุหลาบซึ่งพำนักอยู่ที่นี่ เป็นผู้อ่านหนังสือเหล่านี้ ต่อมาภายหลังฉันยังได้พบนิตยสารฉบับเก่าๆ ย้อนหลังไปหลายปีเก็บอยู่เป็นห้อง ทั้งหมดเลยกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของฉันเลยค่ะ ถ้าฉันหายไป หาตัวได้ที่ห้องนี้เลยค่ะ ห้องหนังสือเก่าๆ ของคุณลุงกุหลาบนี่เองค่ะ

ฉันรู้สึกขอบคุณคุณลุงกุหลาบอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทิ้งมรดกอันล้ำค่าเหล่านั้นไว้... ให้ฉันได้ใช้ประโยชน์ระหว่างที่พำนักและปฏิบัติงานอยู่ ณ สำนักแนวหลังแห่งนี้ 
ขอกราบขอบคุณท่านอย่างหาที่สุดมิได้ค่ะ///