Sunday, December 2, 2012

ลูกรัก...จงอย่าเปลี่ยนเส้นทางที่เลือกแล้วไปง่ายๆ


สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ชาวบล็อกทุกท่าน

ฉันหายไปนาน ต้องขอโทษด้วย ก็ชีวิตมันยังไม่สิ้นก็เลยต้องบากบั่นกัดฟันไปเรื่อยๆ นะคะ งานรุมเร้าเลยไม่ได้เข้ามาเขียนบล็อกคุยกับทุกท่าน

วันนี้งานเสร็จก็เลยรีบเข้ามา เพราะอยากมาคุยเรื่องการเลือกเส้นทางก้าวเดินไปในโลกของเด็กๆ โดยเฉพาะลูกๆ ของเราค่ะ... อยากคุยเรื่องนี้มาหลายเพลาแล้วค่ะ เพิ่งได้ฤกษ์ดีวันนี้เอง...

.....

ฉันนั้นมีความคิดเห็นหนึ่งที่สรุปขึ้นมาจากการสังเกตว่า

ในทุกวันนี้ / คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ตั้งแต่เล็กจนโตเลยนะคะ สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องให้ความสนใจตลอดก็คือ การให้ความเอาใจใส่กับเส้นทางที่ลูกของเราจะเลือกก้าวเดินไปในอนาคตค่ะ

...หลายคนหรือทุกคนน่าจะคิดเหมือนๆ กันอยู่แล้วนะคะ

และอยากจะบอกด้วยซ้ำว่า เรื่องนี้ต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกันตั้งแต่เล็กเลยก็ว่าได้นะคะ เพราะโลกเราสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว...

เมื่อก่อนเป็นไงคะ...

“เมื่อก่อน” ในที่นี้ น่าจะหมายถึงราวๆ ยุค ทศวรรษ 60 – 80 (1960s-1980) ก็นานมาแล้วเหมือนกัน...

บางท่านอาจจะพูดได้ว่าเป็นรุ่นที่คุณยายคุณตายังหนุ่มสาวกัน นั่นแหละใช้แล้วนะคะ ยุคนั้นยังไม่มีใครมองเห็นอะไรๆ ชัดเจนนัก ...เลือกเรียนอะไรไปก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร และก็มักจบลงด้วยการไปทำงานที่ไม่ค่อยตรงกับที่เรียนมาเท่าไหร่ ที่มีชัดหน่อยก็เห็นจะเป็นพวกแพทย์ กับวิศวกร ทนายความ และก็พวกครูบางส่วนเท่านั้น... ยุคนี้เค้าเรียกว่า ยุค “เบบี้บูมเมอร์” เศรษฐกิจเจริญเติบโต ต้องการแรงงานพนักงานเข้าทำงานแบบไม่อั้น ไม่รู้ก็ไปฝึกเอาๆๆ เป็นอันใช้ได้

....

เดี๋ยวนี้ฉันว่ามันไม่เป็นแบบนั้นแล้วมันเปลี่ยนไปมากๆ เลย ทุกท่านคงเห็นด้วยในประเด็นนี้

อาจจะเนื่องด้วยโลกได้เข้าสู่ยุคข่าวสารและเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ความรู้ต่างๆ แพร่กระจายไปได้กว้างขวางรวดเร็วชั่วพริบตา ผู้ที่มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและมีฐานความรู้ที่ดี ก็สามารถดักรับรู้ข่าวสารและแสวงหาความรู้ได้เก่ง ดี เร็ว และก็จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และค้นพบตัวเองได้เร็วว่าตัวเองชอบอยากทำอะไรที่ไหนอย่างไร

การมีสำนึกและสามารถค้นพบตัวเองของลูกๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก... แต่ที่แน่นอนที่สุด พ่อแม่หรือบ้านและโรงเรียนย่อมต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้

เพราะเราจะเห็นว่า เด็กๆ ก็มักจะอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามข้อมูล / ประสบการณ์ที่ตัวเค้าได้พบได้เห็นและมีความประทับใจ

ดังนั้น การค้นพบตัวเองของลูกๆ นั้น มิได้หมายความว่า คือเรื่องที่พวกเค้าค้นพบของเค้าเองโดยธรรมชาติเอง หรือเรื่องที่ว่า พ่อแม่หรือคนอื่นๆ จะบังคับหรือยัดเยียดให้เค้าเป็นนั่นเป็นนี่ได้แบบง่ายๆ อย่างนั้นนะคะ

.....

จะพูดไป มันก็คือศิลปะของการดูแลเลี้ยงดูเด็กอย่างหนึ่ง ที่เป็นบทบาททั้งของพ่อแม่ผู้ปกครองและของโรงเรียนเป็นสำคัญ และก็เป็นสิ่งที่มาจากความปรารถนาที่จะได้เป็นนั่นนี่ของเด็กที่สอดคล้องกันไปด้วยกันค่ะ

ดังนั้น เราไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบงการให้เด็กๆ โตขึ้นจงเป็นโน่นเป็นนี่ เรามีแต่ต้องเปิดกว้างให้เค้าได้เลือกสิ่งที่เค้าได้แรงบันดาลใจอยากเป็น และให้เค้าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่า สิ่งที่เค้าอยากเป็นนั้นคืออะไร มีสถานภาพอย่างไร อยู่ตรงส่วนไหนขององคาพยพใหญ่ของสังคมทั้งหมด และมองไปจนถึงอนาคตว่ามันจะเป็นไปอย่างไร

หากเด็กมีความเข้าใจสิ่งที่เค้าใฝ่ฝันอยากเป็น และมุ่งหน้าก้าวเดินไปบนเส้นทางเหล่านั้นได้เร็ว เค้าก็จะไม่ต้องไปเสียเวลากับการลองคิดผิดคิดถูก ใช่ไม่ใช่ เปลี่ยนใหม่ดีกว่า... ซึ่งสำหรับยุคสมัยนี้ มันก็คือต้องเสียเวลาไป และก้าวไม่ทันคนอื่น ที่เค้าชัดเจนมาแบบสายตรงไม่คดเคี้ยวเลี้ยวไปมาๆ

...

ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปจริงๆ ค่ะ

ยุคนี้ไม่มีเวลาให้ลองผิดลองถูกมากนัก เด็กๆ ทุกคนเหมือนต้องฝึกฝนตนเองเป็น “มือโปร” มาตั้งแต่วัยเรียน พอเรียนจบก็เข้าสู่โลกของการทำงานแบบมืออาชีพกันเลยค่ะ

นั่นจึงเป็นที่มาของหัวเรื่องที่อยากจะบอกเด็กๆ ทั้งหลายว่า...

...ลูกเอ๋ย... จงอย่าเปลี่ยนเส้นทาง / ให้เล็งแม่นๆ แล้วมุ่งหน้าไปโดยเร็ว จงยึดโยงอยู่ในเส้นทางที่เราเลือกและมีความรู้เกี่ยวกับมันมากที่สุด...

ยุคนี้คือยุคสังคมความรู้ จงเลือกทำในสิ่งที่เรามีความรู้มากที่สุด ดีที่สุดแล้วจ้ะ.../
โชคดี แล้วพบกันใหม่นะคะ / สวัสดีค่ะ

6 comments:

  1. ผมเคยรับรู้มา และแนะนำคนไปมากมายว่า คนๆหนึ่งจะพบความสำเร็จในอาชีพและมีความสุข มีปัจจัยอยู่ 3 ประการ
    1.ความรักความพอใจที่จะอยู่ในอาชีพนั้น
    2.มีความถนัดในวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพโดยตรง
    3.ความคาดหวังของคนข้างเคียงในเรื่องอาชีพ
    ถ้า 3 ปัจจัยต้องลงตัวกันได้มาก ถ้าสมบูรณ์ก็จะดีที่สุด

    การที่พ่อแม่และคนข้างเคียงไม่กำหนดอาชีพให้ก็อนุโลมได้ว่าเหลือเพียง 2 ปัจจัย

    การเอาผลตอบแทนที่เป็นเงินมากำหนดอาชีพ อาจทำให้ไม่มีความสุข

    แต่อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนขาดความเป็นปัจเจก แต่สามารถเรียนรู้ได้เกือบทุกอย่าง อาจทำได้ดีในอาชีพที่พ่อแม่กำหนดให้ แต่เขาจะมีความสุขเพียงใดไม่อาจรู้ได้

    พ่อแม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลเรื่องวิถีชีวิตของแต่ละอาชีพ แก่ลูก ขณะเดียวกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มีข้อจำกัด ไม่อาจให้ข้อมูลได้มากพอ ต้องพึ่งพาการแนะแนวจากทางโรงเรียนด้วย

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขออขอบคุณที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นนะคะ
      ได้ตอบความเห็นไปในเฟซบุ๊คแล้ว แต่ก็อยากตอบตรงนี้อีกครั้งค่ะ ว่าความคิดเห็นของเราไม่ต่างกันค่ะ เพียงแต่อาจจะสื่อในข้อเขียนไม่ดี หรืออาจจะมีแนวปฏิบัติที่ต่างกันก็เป็นได้
      บล็อกนี้บังเอิญเน้นการค้นหาตัวเองของเด็ก ซึ่งแน่นอนว่าทางบ้านและตัวพ่อแม่ต้องมีบทบาทสำคัญต่อเค้าอยู่แล้ว นอกเหนือจากโรงเรียนที่ให้ความสนใจกับการรู้จักตัวเองของเด็กๆ
      เราคิดว่า เมื่อเด็กสามารถค้นพบตัวเองได้เร็ว เค้าก็จะสามารถเข้าสู่การเป็นมืออาชีพได้เร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก
      และเค้าก็จะมีความสุขในการทำและฝึกฝนตนเองและเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานต่อไป
      ขอบคุณอีกครั้งค่ะที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน

      Delete
    2. ขออนุญาตขยายความเพิ่มอีกนิดนึง ที่เขียนเมื่อกี้ว่า "บล็อกนี้บังเอิญ..." ที่จริงหมายความว่า ที่โพสต์ไว้ในบล็อกนี้นั่นเองค่ะ แต่บล็อกนี้ฉันโพสต์หลายเรื่องด้วยกัน บังเอิญคราวนี้เขียนเรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องที่คิดต่อเนื่องจากที่โพสต์ไว้ก่อนหน้านี้ค่ะ... อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขียนสั้น บางทีอาจสื่อความได้ไม่หมดที่อยากสื่อออกมา...
      การเข้ามาคอมเมนท์ ช่วยให้ขยายความได้ดีมากค่ะ
      ขอขอบคุณอีกครั้งค่ะ

      Delete
  2. ไม่มีการค้านในส่วนใดๆนะครับ แต่อยากแบ่งปันประสบการณ์จริงว่า เป็นเรื่องค่อนข้างยากในการค้นหาตนเอง หลายครั้งภาวะแวดล้อมทำให้เปลี่ยนความรู้สึกชอบในอาชีพได้ สารภาพว่าตัวผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าชอบอะไรแน่ เปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรโครงสร้าง..วิศวกรแหล่งนำ..สอนหนังสือ...นักวิเคราะห์โครงการ...นักพัฒนาโครงการ...นักการตลาด...วิศวกรพลังงาน...เจ้าของธุรกิจจิ๋วๆ ตามลำดับ

    บ้างว่าเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่โฟกัส ไม่เกาะติด บ้างว่าเป็น jack of all trades บ้างว่าเป็นคน versatile จะอะไรก็ช่างมันเถอะ ผมก็มีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดจนทุกวันนี้ และก็ไม่ได้เสียใจว่าไม่ได้เป็นเลิศในอาชีพใดใด

    จำได้ว่าตอนเด็กๆมีคนถามว่า อยากเรียนอะไร/อยากเป็นอะไร ผมตอบว่าอะไรที่มันเรียนยากนั่นแหละ แม้วันสุดท้ายที่เลือกคณะตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังต้องโยนเหรียญ เพื่อเลือกอันดับหนึ่งระหว่าแพทย์กับวิศวฯ ผลคือคณะแพทย์ฯมหิดล แล้วก็ได้ แต่ก็มีโอกาศให้เลือกไปเรียนวิศวฯต่างประเทศอีก ตัดสินใจเอาอันหลัง

    ถ้าวันนี้กลับไปเป็นเด็ก ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครช่วยทำให้ค้นพบตัวเองได้เร็วอย่างไร เพราะผมอาจไม่เหมือนคนอื่นเขา

    ReplyDelete
    Replies
    1. โอ้นี่ของแท้เลย.. จริงๆ แล้วคุณก็คือวิศวกรไม่ว่าจะย้ายไปไหน ก็ยังอยู่ในวงอาชีพวิศวกร หรือใช้วิชาที่เรียนคณะนี้มา นี่ก็คือความหมายที่ดิฉันต้องการสื่อ การเปลี่ยนในที่นี้หมายถึงเปลี่ยนข้าม field เช่น เปลี่ยนจากแนววิทย์กลายมาเป็นแนวศิลปะ หรือเปลี่ยนจากหมอ มาเป็นนักร้อง ไรงี้ค่ะ
      แม้จะไม่ทราบว่าคุณเป็นคนรุ่นไหน แต่การค้นหาตัวเองได้เร็วนั้น เพิ่งจะมีความเป็นไปได้มากก็สักสองสามทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง ก่อนหน้านั้น ใครๆ ก็มองกันไม่ค่อยเห็นตัวเองหรอกค่ะ
      ขอบคุณนะคะที่เข้ามาแลกเปลี่ยน
      หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

      Delete
  3. เพื่อนๆ ชาวบล็อกที่รักคะ เนื่องจากฉันได้ไปเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับการค้นพบตัวเองของเด็กๆ ไว้ในบล็อกที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งเพื่อนบางคนอาจจะ access ยาก จึงขอนำมาเพิ่มใส่ไว้ ณ ที่นี้ค่ะ>>>

    สวัสดีค่ะเพื่อนๆ และคุณพ่อคุณแม่ชาวบล็อก
    ฉันไม่ได้เข้ามาเขียนแลกเปลี่ยนเสียนาน แต่ก็เข้ามาเยี่ยมเยียนเว็บนี้อยู่เสมอค่ะ
    วันนี้อยากเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เรื่องหนึ่งที่ติดอยู่ในใจมานานพอสมควรค่ะ คิดว่าการแลกเปลี่ยนนี้น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย
    #####
    บรรดาพ่อแม่ที่เคยเลี้ยงลูกๆ หรือครูอาจารย์ที่สอนเด็กๆ คงเห็นด้วยกันนะคะว่า จะมีคำถามหนึ่งที่ตั้งขึ้นสำหรับเด็กๆ นั่นคือ “โตขึ้นอยากเป็นอะไรๆๆ...”
    เด็กๆ ที่ยังเล็กๆ ชั้นอนุบาล – ประถมศึกษา ก็มักจะมีคำตอบคล้ายๆ กัน เช่น “หนูอยากเป็นครู” “อยากเป็นหมอ” “อยากเป็นพยาบาล” “นักบิน” ฯลฯ อ้อ / เดี๋ยวนี้มีอีกอย่าง “อยากเป็นนักการเมือง” อะไรทำนองนี้นะคะ
    บางท่านอาจจะรู้สึกได้ว่า ยังมีอีกๆๆ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่เด็กๆ คิดอยากเป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ เช่น อยากเป็นนายธนาคาร นักการเงิน นักการตลาด ประชาสัมพันธ์ ผู้กำกับหนัง ดารานักร้องนักแสดง (อันหลังนี่มีมากโดยเฉพาะบ้านเรา) ฯลฯ
    จริงด้วยค่ะ /
    ฉันว่าน่าสนใจตรงที่เดี๋ยวนี้เด็กๆ สามารถคิดอยากเป็นอะไรๆ ได้มากกว่าแต่ก่อน มากกว่าเมื่อสักสองสามทศวรรษที่ผ่านมานะคะ
    #####
    สมัยก่อนโน้น เราคิดอะไรไม่ค่อยออก หาตัวเองกันไม่ค่อยจะเจอ จนกระทั่งมีชื่อเรียกขานว่า ยุค “การแสวงหาจิตวิญญาณ” หรือ Soul Searching ซึ่งแสดงออกในรูปแบบวัยรุ่นคนรุ่นใหม่เป็นฮิปปี้ ไว้ผมยาว ต่อต้านคนรุ่นเก่า ไม่ยอมรับ Anti-establishment การปฏิวัติ ยุคนี้อยู่ในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1960 -70 นั่นเอง
    ปัจจุบันนี้คนรุ่นนี้มีลูกมีหลาน ขณะที่โลกก็ได้ย่างก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกขานว่า “ยุคข่าวสารและเทคโนโลยีความเร็วสูง” หรือ “ยุคสังคมฐานความรู้” (Knowledge – based Society)
    ทุกท่านคงทราบดีแล้วว่าเรากำลังอยู่ในยุคใหม่ ที่อะไรๆ ก็จะไม่เหมือนเดิม สังเกตจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกหลักในการป้อนกำลังคนเข้าสู่สังคม เราพบว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ มีระบบการเรียนการสอน ประกอบด้วยวิชาที่ให้เลือกเรียนโดยมีการแยกย่อยมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก แสดงว่าระบบสังคมมีความต้องการกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะในสาขาต่างๆ มากขึ้น ซึ่งบางคนอาจได้ยินชื่อ “ยุคสังคมฐานความรู้” นั่นแหละค่ะยุคที่ว่านี้
    นั่นคือที่มาของการที่หลักสูตรการเรียนการสอนที่จะสามารถสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ จบออกมา แล้วก็เข้าสู่โลกการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    และบนพื้นฐานของสังคมข่าวสารที่มีเทคโนโลยีรองรับความรวดเร็วในการแสวงหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้อย่างดีนี่เอง ที่จะมาสนองความอยากรู้ของผู้คนในสังคม เช่น ถ้าฉันชอบแบบนี้ๆๆ ฉันจะไปแสวงหาความรู้ความชำนาญได้อย่างไร และเมื่อมีความรู้อย่างนี้ๆๆ ฉันจะเข้าไปทำงานที่ไหนเพื่อสานฝันให้เป็นจริง...
    นี่ไงคะ ความเป็นไปได้ที่เด็กๆ จะสามารถล่าฝันของตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด…
    และนี่ก็คือความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะสามารถค้นพบตัวเองได้เสมอ
    #####
    เอาละค่ะ พ่อแม่พี่น้องที่รัก ที่นี่เองแหละคือหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียน ที่จะช่วย Lead ความคิดของเด็กๆ ช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถเฉพาะตัวของเค้า ช่วยให้เขาค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น
    เมื่อเด็กค้นพบตัวเองได้เร็ว เค้าก็จะเติบโตเร็ว ไม่ต้องอยู่ในระบบการศึกษากันนานเป็นสิบยี่สิบปี
    เมื่อค้นพบตัวเองแล้ว เท่ากับว่าเค้ามีความสุกงอม Matured แล้วก็จะอยากออกมาทำอะไรต่ออะไรที่เค้าอยากทำ และเมื่อเค้าทำได้ เค้าก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำนั้นด้วยค่ะ หรือหากเค้าเกิดไม่ชอบสิ่งที่ทำ เค้าก็จะสามารถปรับเปลี่ยนของเค้าได้เอง โดยอยู่ใน Scope ความสามารถที่เค้าฝึกฝนตนเองมาตั้งแต่เด็กนั่นเองค่ะ
    พ่อแม่พี่น้องที่รัก การศึกษาและพัฒนาการของลูกๆ ก็คือการเรียนรู้ของคนๆ หนึ่งที่จะพบตัวเองว่า เราเกิดมาเพื่อทำอะไร เดี๋ยวนี้มีฐานรองรับที่จะค้นพบตัวเองได้ไม่ยากแล้วค่ะ ช่วยลูก ช่วยให้เค้าพบตัวเองได้เร็วๆ กันเถอะค่ะ
    ฉันเชื่อในสิ่งที่ว่าเราทำได้ / ขอให้ทุกท่านโชคดี / สวัสดีค่ะ

    ReplyDelete