Saturday, November 2, 2013

ประชาชนที่แท้จริงย่อมเลือกแนวทางสันติเสมอ...

ในสังคมโลกมนุษย์...
การเมืองคือเวทีของการแย่งชิงผลประโยชน์
ผลประโยชน์ของผู้ที่คุมอำนาจถูกถือว่าเป็น “ผลประโยชน์ของชาติ” มาแต่ไหนแต่ไร...
การต่อสู้กันไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตเล็กลึกกว้างใหญ่ระดับไหนเพียงใด ล้วนวางอยู่บนสิ่งนี้ ล้วนเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีการกระทบกระทั่งกัน
ประชาชนที่เข้าร่วมในการต่อสู้ ทางการเมือง ก็เป็นไปเพื่อปกป้องและเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเช่นกัน...
แต่เนื่องจากประชาชนมีฐานเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์เล็ก มีแต่ฐานกำลังมากมายมหาศาล จึงมักถูกใช้เป็นที่ยืนของกลุ่มอำนาจต่างๆในสนามรบระหว่างกัน
ดังนั้น ประชาชนกลุ่มใดมีผลประโยชน์อิงแอบอยู่กับกลุ่มอำนาจใด ก็มักกลายเป็นฐานในการต่อสู้ให้กับกลุ่มอำนาจนั้น โดยประชาชนเหล่านั้นก็คิดด้วยใจใสซื่อว่านั่นเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องเรียกร้องผลประโยชน์ของตน ซึ่งย่อมหมายถึงผลประโยชน์ของชาติในความเข้าใจของประชาชนแต่ละกลุ่มเหล่านั้น
.....
พูดแบบนี้ เหมือนกับว่า ประชาชนไม่มีทางเลือกเป็นของตนเองเลยหรือ...?
ตอบเลยว่า “ยาก”
เพราะอะไร?
ก็... ประชาชนมีอะไรอยู่ในมือบ้างล่ะเวลาที่เค้าต่อสู้ชิงอำนาจการเมืองกัน ที่สำคัญก็กลไกของอำนาจรัฐต่างๆ... ทหารตำรวจ? กองทัพอาวุธยุทโธปกรณ์ อำนาจทางศาล กฎหมาย สภา อำนาจการบริหารผ่านกระทรวงทบวงกรมต่างๆ...? ไม่ ไม่..ไม่มีแม้สักนิด...ไม่มีอะไรเลย แม้แต่พลังของตนที่ว่ามีอยู่มากนั้น ก็ถูกกลุ่มผู้มีอำนาจเอาไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งยื้อผลประโยชน์กันเท่านั้น... อนิจจา...
....
เดี๋ยวนี้ประชาชนไม่โง่นะ... /
อ๊ะ/ จริงหรือเปล่า? อย่าคิดว่าแค่มีเฟซบุ๊ค และสามารถเข้ามาวาง สเตตัส เก๋ๆ ได้นั่นสุดยอดแล้วประมาณนั้นนะ /
เคยตั้งคำถามหรือยังว่า เรากำลังยืนอยู่บนจุดยืนของกลุ่มอำนาจใด? มิพักต้องคิดต่อไปว่า เรากำลังเป็นจิ้งหรีดที่ถูกปั่นหัวด้วยกระแสข่าวจากสำนักข่าวของกลุ่มอำนาจใด? แล้วถ้าเกิดกลายเป็นว่าสิ่งที่เราเชื่ออย่างสุดๆ ว่าดีงาม กลับกลายเป็นเพียงภาพมายาที่เลื่อนลอยแล้ว เราจะเสียขวัญกำลังใจขนาดไหน?
 เราได้เคยสรุปบทเรียนจากอดีตบ้างหรือเปล่า?
การไม่โง่คืออะไร? ในเมื่อเราไม่มีอำนาจกลไกอะไร มีแต่สองมือเปล่า กับสมองหนึ่งก้อน ...เราต้องสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อตัดสินให้ได้ว่า... อะไรจะเป็นผลดีแก่เราซึ่งจะเป็นผลดีแก่ส่วนรวมและประเทศชาติด้วย... ใช่หรือไม่?
ประชาชนโดยแท้แล้ว รักสันติ ไม่ชอบสงครามการสู้รบเพราะเค้าต้องเป็นผู้สู้จริงตายจริง ประชาชนโดยแท้จริงรักบ้านเมืองที่สงบสุข ที่จะสามารถทำมาหากินสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาติและตนเองได้
...
ประชาชนที่ฉลาดย่อมเลือกแนวทางสันติเสมอ เพราะมันคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนเอง//

Sunday, January 6, 2013

การเผชิญหน้าของผู้ที่เห็นไม่เหมือนกัน


#####

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน สิ่งที่จะพูดนี้ก็เคยไม่อยากเอ่ยถึง แต่ก็อดไม่ได้อีกแล้วค่ะ

สังคมบ้านเราตอนนี้กำลังเผชิญกับสภาวะที่คนมีความคิดเห็นที่ต่างขั้วกันอย่างน่าเป็นห่วงนะคะ ซึ่งฉันมองว่าตอนนี้มันเหมือนได้กลายเป็นหลุมพรางหลุมใหญ่หลุมหนึ่งทีเดียวค่ะ...ใครเผลอตกลงไปก็ยากจะปีนกลับขึ้นมาเลยนะ!

ฉันเองพยายามอย่างมากที่จะไม่พาตัวตกลงไปในหลุมพรางนี้ (แต่ยังสงสัยอยู่ว่า ตอนนี้ฉันเองก็อาจได้ตกลงมาในหลุมนี้เสียแล้วก็เป็นได้)

เอาละค่ะ เดี๋ยวก็พอจะรู้

.....

เพื่อนๆ รู้สึกว่ามันน่าเป็นห่วงไหมคะ ฉันว่ามันน่าห่วงตรงที่ว่า คนเรามองสิ่งเดี่ยวกันแต่กลับตีความไปคนละขั้ว หรือบางทีก็ตีเอียงเข้าข้างตัวเองเฉยๆ เลย... นี่มันหมายความว่าอะไร มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมบ้านเมืองของเราหรือ? นี่พวกเรายืนอยู่บนจุดยืนในผืนแผ่นดินเดียวกันหรือเปล่า? หากเรายืนบนจุดเดียวกัน เราก็น่าจะมีมุมมองที่คล้ายๆ กันจริงไหมคะ ดังนั้น การที่คนมองสิ่งเดียวกัน แต่เห็นไปคนละอย่างกัน ย่อมต้องสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า คนเหล่านี้นั้นต้องยืนมองสิ่งนั้นอยู่คนละจุดกันแน่นอน

อันนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จริงไหม? /

ขอเพียงแต่เราควรรู้ว่า นี่เรายืนมองสิ่งเดียวกันจากคนละมุมกัน ดังนั้น ย่อมเห็นไม่เหมือนกัน

ที่สำคัญคืออะไร ที่สำคัญคือเราควรยอมรับว่าเรามองสิ่งเดียวกันจากมุมที่ต่างๆ กัน ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้โลกนี้ต้องแตกดับไปมิใช่หรือ? (หากเป็นการมองอย่างสร้างสรรค์ ถ้าจะว่าไป)

ถ้าเรายอมรับความแตกต่างๆ ว่ามันย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมคนหมู่มาก และหรือหากเราอยากจะได้ชื่อว่านี่เป็นสังคมแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” หรือว่าความจริงพวกเราไม่อยากกันแน่คะเนี่ย?

ไม่อยากเป็นประชาธิปไตยกันแล้วเหรอคะ?

คงไม่หรอกน่า...

.....

นี่มันทำให้ฉันต้องย้อนกลับไปนึกถึงงานที่ชื่อ “The Dialogues of PLATO” ผลงานของเพลโต เขียนถึงบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางความคิดปรัชญา สังคม การเมืองในอาณาจักรเอเธนส์ช่วงยุค 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช (เมื่อประมาณ 2400 กว่าปีที่ผ่านมา) หลังจากที่โสกราตีส ซึ่งเป็นตัวละครเอกเจ้าความคิด ได้ถูกสำเร็จโทษไปแล้วเมื่อราว 399 ปีก่อน ค.ศ. เป็นบรรยากาศของการโต้แย้งทางความคิดในหมู่นักคิดนักปรัชญาที่เกิดขึ้นมากมายในยุคนั้น และคนทั่วไปก็มีความสนใจที่จะรับฟังการโต้แย้งทางความคิด และฟังความคิดที่ขัดแย้งด้วยความสนใจอย่างยิ่ง เหมือนมีความสุขที่ได้โต้แย้งทางความคิดกับคนเก่งๆ เพราะมันจะทำให้ตนเองปราดเปรื่องขึ้น.... ย้ำ / นั่นคือเมื่อสองพันสี่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา...

แม้แต่บรรยากาศบ้านเราในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา) ก็เป็นบรรยากาศของการโต้แย้งแลกเปลี่ยนทางปัญญาอยู่อย่างมาก รู้สึกว่าจะมากกว่าในปัจจุบันนี้นิดนึงนะฉันว่า

ทุกวันนี้ มันกลายเป็นการแยกขั้วอย่างชัดเจน และต่างขั้วก็ไม่ยินยอมที่จะหันมามองหน้ามองตากันอีกต่อไป...

ช่างเป็นบรรยากาศที่ดูเหมือนกลับสู่ยุคป่าเถื่อน แถวๆมนุษย์ถ้ำโน่นเลยนะเนี่ย ตั้งแต่ยังไม่พัฒนาภาษาการสื่อสารกัน ต้องใช้ภาษากายเป็นหลัก...

ไม่จริงมั๊งง... มันน่าจะเป็นหลุมพรางนะ เป็นเหมือนกับดักของความขัดแย้งในสังคม / ขังตัวเอง กินตัวเอง...

ระวังอย่าตกลงไปง่ายๆ ใช้ความคิดใคร่ครวญให้มากขึ้นอีกๆ เร็วเข้าๆ

.....

เพื่อนๆ คะ อย่าพากันตกลงในหลุมพราง / กับดัก นี้เลย เรามาช่วยกันสร้างถากถางทางเดินใหม่ๆ เพื่อเดินหน้ากันต่อไปดีกว่าค่ะ ใครมีอะไรดีๆ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำ แชร์กัน สร้างสรรค์กันขึ้นมา ดีกว่านะคะ อย่ามัวไปคิดสงสัยว่าใครเป็นพวกใครเป็นฝ่ายไหน ไม่มีหรอกค่ะ ทุกคนก็เป็นคนในสังคมเดียวกัน เติบโตมาด้วยกันไม่ใช่เหรอ?

รักกันไว้ กอดคอกันไว้แล้วไปด้วยกันดีกว่านะ// ขอฝากเป็นแง่คิด / และหวังว่าเรื่องที่เขียนวันนี้จะไม่ถูกตีความแบบเอียงกระเท่เร่ไปข้างใดข้างหนึ่งซะล่ะ!

ด้วยรักและห่วงใยทุกคนเลยค่ะ//